ไม่ได้ป่วย แต่…ไม่เหมือนเดิม
จากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ระยะ IIA
ชีวิตดูกำลังจะไปได้ดีในวัย 38 เรามีบ้านหลังแรกด้วยน้ำพัก น้ำแรงคน 2 คน ชีวิตเรียบง่าย ใกล้ ๆ กับริมแม่น้ำบางปะกง ครอบครัวเล็ก ๆ ซึ่งมี เรา, แฟนและเจ้าเหมียว 2 ตัวพี่น้อง ที่รับมาจากวัดแห่งนึงในกรุงเทพฯ เราไม่เคยรู้สึกว่าเราสุขภาพดีมากขนาดนี้มาก่อน ถึงแม้จะไม่ได้มียิมอยู่ใกล้บ้านที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก แต่เราก็จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายพื้นฐาน ที่ทำให้เรา 2 คน ได้มีโอกาสออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมากขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยก็ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เราได้สูดอากาศดี ๆ ย่านชานเมือง และไม่ต้องผจญกับรถติดในเมืองหลวง เรายังมีโอกาสได้ใช้ครัวแบบแม่บ้านเต็มยศ เป็นครั้งแรกในชีวิต
ประมาณเกือบ 1 ปีมาแล้ว ที่เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ (ซึ่งเราละเลย) มีเลือดออกเล็กน้อย ช่วงที่ไม่ใช่ประจำเดือน แต่พอใส่ผ้าอนามัยปุ๊บมันหยุดไหลปั๊บ (สงสัยมันจะกลัวผ้าอนามัย) มันเล็กน้อยมาก จนไม่ได้รู้สึกว่ามัน คือ ความผิดปกติ เราจะ 39 แล้วปีนี้ ประจำเดือนคงจะเริ่มมาไม่ปกติเหมือนหลาย ๆ คนที่เรารู้จักมั้ง มีปวดท้องบ้าง แต่มันก็ไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ยังทำทุกอย่าง ออกกำลังกายได้ปกติ ตรวจสุขภาพประจำปีที่บริษัท ผลไขมันดี ไขมันเลว คลอเรสตอรอล ปกติดี น้อง ๆ หลายคนยังอิจฉาว่าเราออกกำลังกายดูฟิต และสุขภาพดี (จากภายนอก) หลาย ๆ คนในออฟฟฟิศ ก็พากันไปตรวจภายใน และตรวจมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติม แต่สำหรับเรามองว่าไม่น่าจะจำเป็น ตรวจภายในเหรอ เคยได้ยินอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยได้ยินใครพูดว่า ต้องตรวจ เรามักได้ยินคำว่า ควรตรวจ แนะนำให้ตรวจ ซะมากกว่า….ชั่งมันเถอะ
ปลายเดือนพ.ค. 2559 เราตัดสินใจอยากซื้อประกันชีวิต และประกันสุขภาพดี ๆ ซักเล่ม แอบใช้ชีวิตอยู่ในบนความเสี่ยงมาตลอดเกือบ 40 ปี เนื่องจากว่าเรามีประวัติเป็นไทรอยด์เป็นพิษเมื่อหลายปีก่อน บริษัทประกันจึงอยากให้เราไปตรวจซ้ำก่อนที่เค้าจะอนุมัติ แต่ 2 วันก่อนหน้านั้น เรามีอาการตกเลือดค่อนข้างมาก ทำให้เราตกใจอยู่พอสมควร แต่ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด (จริง ๆ เราคงจะมีอาการปวดท้องอยู่บ้าง แต่เพราะว่าเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ จึงมองว่าเป็นอาการของการใช้ร่างกายมากเกินไปมากกว่า) มันคงจะเป็นประจำเดือน แต่มันก็มาแค่วันเดียวเอง เอ…ยังไงหว่า?
วันนี้มาตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะให้บริษัทประกัน ตรวจภายในไปด้วยเลยละกัน ตกขาวเรามีกลิ่นซะด้วยซิ สงสัยน้ำที่สระเมื่อเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมาที่เสียมเรียฐคงต้องสกปรก และมีเชื้อโรคแน่ ๆ เลย และเมื่อประมาณ 2-3 เดือนก่อนหน้านั้น ตกขาวก็แสบและคันมาก
ผลตรวจเลือดและปัสสาวะสำหรับไทรอยด์และอื่น ๆ ที่บริษัทประกันต้องการออกมาปกติดี แต่…คุณหมอสูติ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ แสดงความกังวลกับการตรวจภายในของเราอย่างมาก เพราะแค่คุณหมอสอดอุปกรณ์เข้าไปเบา ๆ เราก็เลือดไหลออกมามาก ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่ เลือดมาจากไหน? และหลังจากวันนั้นเราก็มีเลือดสีจาง ๆ ออกมาเปรอะกางเกงชั้นในทุกวัน คุณหมอให้ทำการตรวจ Pap Smear และจะส่งผลไปให้เป็นอีเมล์
ในวันถัดมา เราเข้าไปพบคุณหมออีกครั้ง ครั้งนี้คุณหมอขูดเนื้อเยื่อจากบริเวณปากมดลูกและส่งตรวจ Biopsy ด้วย และให้เข้ามาฟังผลกับคุณหมอในเสาร์ที่จะถึง ผล Pap Smear พบว่ามีเซลส์ผิดปกติ แนะนำให้พบแพทย์ทันที เดี๋ยวเราก็จะเจอคุณหมอเสาร์นี้แล้วเพื่อฟังผล Biopsy ความกังวลเริ่มเข้ามา เราเป็นอะไร? เราจะป่วยมากหรือป่าว? ถ้าเราป่วย จะต้องรักษานานแค่ไหน แล้วเราจะเอาเงินค่ารักษามาจากที่ไหน? เรามีภาระบ้านที่เพิ่งจะผ่อนมาได้แค่ปีเดียว รถยนต์อีกหล่ะ? หนี้สิน และแมว 2 ตัว?
“อย่างที่หมอบอกตอนแรก ผลออกมาเป็นเนื้อร้ายนะ จะรักษาที่นี่ไหม๊” เราเป็นมะเร็งปากมดลูก คุณหมอยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นระยะที่เท่าไหร่ เพราะต้องมีการตรวจอีกหลายอย่าง เราเลือกที่จะไปเริ่มต้นการรักษาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ที่ ๆ เรามีประกันสังคมอยู่ การวางแผนซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพต้องสิ้นสุดลงเพราะผล Biopsy เราร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีก รู้สึกว่าโชคชะตาช่างเล่นตลกกับเราได้ถึงเพียงนี้ แต่แล้วเราก็ต้องเดินหน้าต่อ ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์เดินเข้าเดินออกโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เพื่อตรวจเช็คว่ามะเร็งได้ลุกลามไปจุดอื่นๆ หรือไม่ การตรวจเริ่มตั้งแต่ การตรวจเลือด, X-Ray ปอด, ตรวจการทำงานของไต, ตรวจคลื่นหัวใจ, การส่องกล้องเพื่อตรวจว่ามีการลามไปยังกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ และตรวจหาการลุกลามไปยังบริเวณทวารหนัก ผลตรวจออกมาปกติดี ทำให้เราโล่งอก และแอบมีความหวังเล็ก ๆ ว่าเราคงจะเป็นระยะเริ่มต้น เท่านั้น โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพที่จะรักษาเรา และได้ทำการส่งตัวเราไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระเทพรัตนสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องครักษ์ ซึ่งเราก็ยอมรับด้วยความยินดี เพียงเพื่อที่ว่าเราจะได้ใช้สิทธิประกันสังคม และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เมื่อกลับมาทบทวนแล้วในเรื่องการเดินทาง มันมีความลำบากทั้งต่อตัวเอง และคนที่ใกล้ชิด 1 อาทิตย์ก่อนที่เราจะตัดสินใจไปยังโรงพยาบาลที่ได้รับการส่งตัวไป เราได้รับคำแนะนำจากเพื่อนและคนรู้จักให้ลองโทรไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี
ตอนนี้คือเดือนมิถุนายนแล้ว คิวพบคุณหมอเร็วสุดคือเดือนสิงหาคม ซึ่งเรารอไม่ได้อีกแล้ว เราลอง Google และพบคลีนิคพิเศษนอกเวลาราชการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เราลองโทรไปแต่ในใจก็รู้สึกว่ายอมรับโชคชะตาที่ต้องเดินทางไปรักษาตัวที่องครักษ์แล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าคุณหมอพงษ์เกษฒ วรเศรษฐสิน มีคิวว่างในอีก 2 วันข้างหน้า เรานัดหมายกับเจ้าหน้าที่ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความหวัง เลือดสีจาง ๆ หายไปแล้ว เรารวบรวมผลตรวจร่างกายจากโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ ใส่ในแฟ้มให้ดูเรียบร้อย และถือไปยังโรงพยาบาลจุฬา เพื่อพบคุณหมอพงษ์เกษม เพียงคนเดียว... เราไม่เคยป่วยหนัก และไม่เคยคิดว่าการที่เราต้องมาฟังผลว่าเราเป็นมะเร็งระยะไหน จำเป็นต้องมีคนมาเป็นเพื่อนด้วย เราเข้มแข็ง และอยู่ด้วยตัวเองมาตลอด เราแต่งหน้าเหมือนทุกวัน หน้าตาสดใส และคิดเสมอว่าเราไม่ได้ป่วยหนัก แค่ผ่าตัด 3-4 วันก็คงจะหายแล้ว เราคิดว่าเรายังมีโอกาสมีลูก มีลูกซักคน แล้วค่อยกลับไปรักษา มันจะเป็นไปได้หรือป่าวนะ? คุณหมอหยอกว่าเราดูสวยเกินกว่าจะเป็นคนป่วย เรายื่นแฟ้มให้คุณหมอดู คุณหมอทำการตรวจภายใน บรรยากาศเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน เมื่อคุณหมอพูดว่า “อืมม นี่เราระยะสองแล้วนะ มันลามไปข้างในแล้ว” เราได้ยินเสียงเลือดปริมาณมากพอสมควรสาดลงไปที่พื้นเมื่อคุณหมอดึงมือออกมา เราก้มมองดูขาตัวเองที่มีเลือดไหลเป็นทางตามขา เราเช็ดขาด้วยกระดาษทิชชู ดึงกางเกงชั้นในขึ้น ตัวเริ่มชาแล้วน้ำตาก็ไหลออกมา…เราจะไม่มีโอกาสมีลูกแล้ว แล้วเราจะตายไหม๊? คุณหมอเขียนบันทึก CA Cervix IIA แล้วแจ้งว่าจะส่งตัวเราต่อไปให้คุณหมอชลเกียรติ
เลือดยังไหลออกมาเรื่อย ๆ เราเดินไปห้องน้ำแล้วดึงกระดาษทิชชูมาอุดไว้ ฝนตกหนักมากในคืนวันพฤหัส เรามองเห็นถนนพระรามสี่เต็มไปด้วยรถที่หยุดนิ่งในเวลาทุ่มเศษ ๆ น้ำตาเริ่มพรั่งพรูออกมาแบบหยุดไม่อยู่ สติของเราเริ่มกระจัดกระจายไม่เป็นรูปร่าง ความคิดแง่ลบหลากหลายเริ่มทะลักเข้ามาแทนที่ เราสะอึกสะอื้น และยังคงเดินตามเจ้าหน้าที่ไปยังตึกว่องวานิช เพื่อพบคุณหมอชลเกียรติ ขอประเสริฐ คุณหมอหัวหน้ารังษีรักษาและมะเร็งวิทยา เท้าและชายกระโปรงเปียกแฉะจากฝนที่สาดเข้ามาบริเวณทางเดินระหว่างตึก สภาพใบหน้าไม่เหลือความสวยจากเครื่องสำอาง เราแลดูเป็นผู้ป่วยจริง ๆ แล้ว เรารู้สึกเดียวดาย ผิดหวังกับชีวิตในจุดที่กำลังยืนอยู่ และกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ และยังไม่รู้จะจัดการกับสิ่งต่าง ๆ และคนที่อยู่ข้างหลังได้อย่างไร
คุณหมอชลเกียรติ มีอัธยาศัยที่เป็นมิตรและมีน้ำเสียงที่อ่อนโยน แม้แต่คุณพยาบาลใจดีเองก็ยังมาแตะไหล่ปลอบโยนเรา เรายังคงนั่งร้องไห้ต่อหน้าคุณหมอแบบไม่อาย คุณหมอกดเบอร์โทรออกหาผู้หญิงคนหนึ่ง คุณหมอเรียกเธอว่า “คุณนุช” และปล่อยให้เราคุยกับเธอ คุณนุชเคยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเช่นกัน และรักษาหายเป็นเวลาหลายปีแล้ว คุณนุชให้กำลังใจเราและย้ำว่าเราต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ให้เชื่อใจคุณหมอชลเกียรติซึ่งจะรักษาเราให้หายได้เช่นเดียวกัน “คุณนุชมีลูกไหม๊ค่ะ” เธอตอบว่า “นุชไม่มีลูกค่ะ” เป็นคำถามเดียวที่เราถามคุณนุช เราขอบคุณคุณนุชและขอเบอร์โทรศัพท์ของเธอ ซึ่งเธอก็ให้ด้วยความเต็มใจ เราปาดคราบน้ำตา เรียกสติกลับมา คุณหมอกลับมาที่ห้องและอธิบายแผนการรักษา ซึ่งจะเริ่มในสัปดาห์หน้า โดยคุณหมอจะนัดให้มาทำ CT Scan และ MRI ก่อน เพื่อขีดเส้นตำแหน่งที่จะฉายรังสี การรักษาประกอบด้วยการฉายรังสีสัปดาห์ละ 5ครั้ง และเคมีบำบัดสัปดาห์ละ 1 ครั้งควบคู่กันไปด้วย เราขอบคุณคุณหมอและเดินออกมานั่งรอน้องชายกับแฟนที่ต้องขับรถมาจากบางปะกงเพื่อมารับที่โถงของตึกภปร. เรานั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้นคนเดียว…เราจะหมดโอกาสที่จะได้เป็นแม่? เมื่อมองย้อนกลับไป จริงๆ แล้วอะไรที่ทำให้เราเสียใจ แท้จริงเราเคยคิดอยากมีลูกหรือป่าวในหลายปีที่ผ่านมา? เราเสียใจที่เราไม่มีโอกาสมีลูก หรือว่าเราเสียใจที่โอกาสที่เราจะมีสิทธิ์เลือกนั้นมันหายไปกันแน่ การรักษาตัวให้หายจากโรคร้ายควรจะเป็นความสำคัญอันดับแรกของเราตอนนี้ไม่ใช่หรือ?
อาทิตย์แรกของการฉายรังสี ผ่านไปอย่างเชื่องช้า เรามีปัญหากับการกลัวเครื่องฉายรังสีอย่างมาก เป็นความรู้สึกแบบ Panic attack (โรคตื่นตระหนก) คือ มือเท้าเย็น หัวใจเต้นแรง และจังหวะการหายใจเหมือนจะหมดลม แต่เราก็หายใจแรงมากจนครั้งนึงเจ้าหน้าที่ต้องท้วงว่าให้พยายามหายใจเบา ๆ เพื่อไม่ให้รังสีไปกระทบอวัยวะส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน ขณะที่อยู่บนเตียงสายตาเราจะจับจ้องไปที่เครื่องฉายรังสีที่ส่งเสียงแบบมนุษย์หุ่นยนต์แล้วมันก็ค่อย ๆ หมุนไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง และด้านหลังของเรา มีหลายครั้ง ที่เรารู้สึกอยากจะกระโดดลงมาจากเตียง คุณหมอชลเกียรติพูดให้เราสบายใจว่าเครื่องนี้ออกแบบโดยบริษัท Porsche ราคาตั้ง 200 กว่าล้านบาทเลยนะ เดี๋ยวคุณหมอจะไปติดต่อบริษัท เพื่อตำหนิว่าออกแบบยังไงนะ ทำให้คนไข้กลัว หลาย ๆ ครั้งที่เราได้พบและพูดคุยกับคุณหมอทำให้เรายิ้มได้มากขึ้นทุกที แล้วก็ลืมความเครียด และความเจ็บปวดไปได้ เราเริ่มทำใจกับสิงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับตัวกับการรักษาได้ดีขึ้นเมื่อเข้าอาทิตย์ที่ 3 ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงอย่างกรดไหลย้อน ท้องอืด อาหารไม่ย่อยยังมีอยู่เรื่อย ๆ พร้อมทั้งอาการท้องเสียซึ่งมาเคาะประตูถามหาเราทุกวัน โดยไม่เลือกเวลาหรือสถานที่ ความกลัวเครื่องฉายรังสีหายไปแล้ว เรามองภาพดอกไม้บนฝ้าภายในห้องฉายรังสีและคิดถึงต้นไม้เขียว ๆ กับลมเย็น ๆ หน้าบ้าน และเวลาที่จะได้กลับไปทำสวน เมื่อการรักษาสิ้นสุดลง เรากั้นปัสสาวะได้ทันกับเสียงเจ้าหน้าที่เรียกชื่อเพื่อฉายรังสีทุกครั้ง ความผ่อนคลายเข้ามาเยือนเมื่อเราได้พูดคุยกับเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่มาจากต่างที่กัน แต่ต่างก็มารอฉายรังสีเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ เราทุกคนอยากจะหายจากโรคร้ายนี้และมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเคย ถึงแม้ว่าพวกเราจะต้องใช้เวลาในการรอเข้าคิวเพื่อฉายรังสีเป็นเวลาถึง 2-3 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นก็ตาม ในขณะที่การฉายรังสีจะใช้เวลาแค่เพียงไม่ถึง 10-15 นาทีเท่านั้น
เคมีบำบัดที่เราได้รับ ชื่อ Cisplatin ถึงแม้ว่าผลข้างเคียงไม่ได้ทำให้ผมร่วงจนหมดทั้งหัว แต่ผมก็ร่วงออกมาเป็นกำมือแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงในการรับเคมีบำบัด เราโชคดีที่ไม่อาเจียน แต่มีอาการพะอืดพะอม อ่อนแรง และจะรู้สึกร้อนผ่าวๆ บ่อยครั้ง มีอาการปวดหัวร่วมด้วย โดยเฉพาะเวลาที่ออกไปเจอแดด อากาศร้อน หรืออากาศไม่ถ่ายเทในบริเวณที่มีผู้คนพลุ่กพล่าน ซึ่งเราก็กินยาพาราและเช็ดตัวพร้อมทั้งประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการเป็นครั้งคราว อาการเบื่ออาหารทำให้เราต้องกล้ำกลืน ฝืนกินไข่ขาวทั้งน้ำตาในหลาย ๆ ครั้ง “เน้นให้ทานไข่ขาวนะคะ เพราะว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเลือดขาว” ตามที่คุณพยาบาลและคุณเภสัชฯ บอก อาหารที่เรากินตลอดเวลาเกือบ 2 เดือน มันช่างไร้รสชาด ของที่เคยอร่อยก็ไม่ถูกปากเหมือนเดิม เราไร้เรี่ยวแรง และไม่สามารถทำอะไรแบบที่เคยทำได้ หลายครั้ง เราได้แต่นั่งรับลมอยู่ตรงชานหน้าบ้าน และวาดภาพวันที่เราจะได้กลับมาแข็งแรง แล้วจะได้มาย้ายกระถางต้นไม้ข้างเสาโรงรถซะที มันรกตาซะเหลือเกิน เราได้รับเคมีบำบัดในช่วงเช้าของทุกวันพฤหัสฯ และช่วงบ่ายก็ต้องไปฉายรังสีต่อ รู้สึกว่ามันช่างเป็นวันเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน
ถึงแม้ว่าเราต้องเดินทางไปโรงพยาบาลจุฬาฯ แทบทุกวัน เราก็ยังคงพยายามไปทำงานด้วยในวันจันทร์ถึงพุธ แม้ว่าจะทำอะไรได้ไม่มากนัก แฟนจะขับรถจากบ้านที่บางปะกงมาส่งเราที่ทำงานย่านพระรามสี่ช่วงเช้า เราทำงานถึงบ่ายสองโมง แล้วก็นั่งแท๊กซี่ไปที่โรงพยาบาลเพื่อรอคิวฉายรังสี ส่วนวันพฤหัสฯ แฟนก็ต้องมาอยู่กับเราทั้งวันเพื่อรอรับเคมีบำบัดและฉายรังสีด้วย วันศุกร์เราขอบริษัทหยุดงานทั้งวัน แต่ตกบ่ายก็ต้องออกจากบ้านมาโรงพยาบาลเพื่อฉายรังสี รวมการฉายรังสีทั้งหมด 28 ครั้ง ทั้งเราและแฟนเหน็ดเหนื่อยมากกับการเดินทาง และรถติดในกรุงเทพฯ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เราก็เริ่มทำใจรับกับสภาพชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีขึ้น และเรายังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเช่นเดียวกันอีกมากมาย ทั้งผู้ป่วยและไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็ง
ในระหว่างการรักษา มีอยู่ครั้งนึงที่เราตกเลือดหนักมาก จนต้องไปแอดมิทโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน 1 คืน แต่ภาวะเลือดก็อยู่ในระดับปกติ คือ เลือดไม่จาง และไม่ต้องให้เลือดเพิ่ม เลือดที่ไหลออกมาอย่างมากติดต่อกันทั้งคืน และมีลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่ด้วย ทำให้เราสงสัยว่ามันคือเลือดจากก้อนมะเร็ง หรือว่าเราไปหักโหมออกกำลังกาย (เบา ๆ) หรือมันคือช่วงจังหวะของการตกไข่ และมีประจำเดือนซึงผิดปกติจากเดิมเนื่องจากสภาพร่างกายของเรา เมื่อพบคุณหมอชลเกียรติ คุณหมอทำบันทึกไว้ และดูไม่กังวลอะไร ถึงเราจะแอบมีความกังวลเล็ก ๆ ลึก ๆ ในใจ แต่ก็ยังคิดถึงคำพูดของคุณนุชอยู่เสมอ
ในอาทิตย์สุดท้ายของการรับเคมีบำบัด (สัปดาห์ที่ 6) คุณหมอแจ้งว่า MRI แสดงให้เห็นว่าผลตอบรับต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก คุณหมอให้ยกเลิกการรับเคมีบำบัดครั้งที่ 6 และให้วางแผนการสอดใส่แร่อีก 3 ครั้ง (อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ทุกวันพุธ) นี่เรากำลังเดินทางมาใกล้จะถึงเส้นชัยแล้วซินะ เรายังคงขี้แงเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้เป็นน้ำตาแห่งความดีใจ
คุณพยาบาลให้เราดูวีดีโอขั้นตอนและวิธีปฏิบัติตัวสำหรับการรับการสอดใส่แร่ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวันพุธหน้าที่กำลังจะมาถึง เราเริ่มสังเกตุแผลพุพอง และผิวหนังไหม้เกรียม ใกล้ ๆ กับบริเวณที่เคยเป็นจุดขีดเส้นเพื่อฉายรังสี แผลพุพอง แสบและมีอาการคันบ้างเป็นบางครั้ง คุณหมอบอกว่าเป็นผลข้างเคียงจากรังสี แนะนำให้เราล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซึงแผลก็ยุบลงและดีขึ้นตามลำดับ สีของผิวหนังที่ไหม้เกรียมก็ค่อย ๆ จางลงด้วย เราตัดผมสั้นเป็นบ๊อบและส่งผมไปทางไปรษณีย์เพื่อบริจาคให้องค์กรที่จะนำผมไปทำวิกให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้ วันแรกเรามารับการสอดใส่แร่ด้วยผมทรงใหม่ พร้อมความรู้สึกอิ่มเอิมใจที่รู้ว่าผมที่เราไว้ยาวมาหลายปีอย่างน้อยก็อาจจะได้ใช้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ยาบรรเทาปวดและยาคลายเครียดที่เรากินก่อนหน้านี้ประมาณ 1 ชม. ทำให้เราเดินสะลึมสะลือเข้าไปยังห้องเพื่อรับการใส่แร่ แต่เราก็ยังรู้สึกถึงความเจ็บปวดในขณะที่คุณหมอทำการสอดเครื่องมือเข้าไปยังช่องคลอดอย่างชัดเจน คุณพยาบาลเอามือมาวางที่อกให้เราจับไว้ และพยายามชวนคุย แต่เรารู้สึกเจ็บปวดแทบจะเป็นลมและไม่สามารถพูดคุยกับคุณพยาบาลได้ทุกประโยค ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม. ในการสอดใส่แร่แต่ละครั้ง 3 ครั้งผ่านไปด้วยดี ถึงแม้ว่าความเจ็บปวดในแต่ละครั้งจะไม่ได้ลดลง แต่เราก็ไม่เคยหวาดกลัว
เราได้อ่านหนังสือมากขึ้นในระหว่างที่รอการฉายรังสี และช่วงเวลาที่ได้รับเคมีบำบัด หนึ่งในนั้นคือหนังสือที่คุณพยาบาลยื่นมาให้ ชื่อ “R u ready to die? ชีวิตที่นับถอยหลัง” เจ้าของเรื่องโดย คุณอ้อม ดวงจันทร์ คำรณสินธุ์ ถึงแม้ว่าคุณอ้อมจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งข้อคิดหลายอย่างไว้ให้เรา นอกจากนี้ยังมีข้อคิดที่เราได้จากการอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ รวมถึงการพบเจอกับผู้ป่วยมะเร็งต่างเพศ ต่างวัย ต่างชนิด และต่างระยะกันด้วย ทั้งจากการพูดคุยสนทนา หรือแม้แต่แค่จากความคุ้นเคยใบหน้ากันเพราะต้องเจอกันเกือบทุกวัน โดยมิได้พูดคุยกันซักคำก็ตาม เวลาที่เราจะพยายามปลอบใจ ให้กำลังตนเอง คำว่าให้มองดูคนอื่นที่ด้อยกว่า ยังคงดูเหมือนจะใช้ได้ดี “เราดีกว่าคนอื่นเยอะเลย ดูคนที่ด้อยกว่าเราซิ” แต่คนเหล่านั้นเค้าจะไปดูใคร เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นเล่า ถ้าเค้าคือ จุดที่ด้อยที่สุดแล้ว? ถ้าเค้ากำลังใช้ชีวิตแบบนับถอยหลัง? เรากลับมาคิดอีกแบบว่า ถ้าเราหยุดมองดูคนอื่น และหันมามองตนเอง ให้พึงเข้าใจว่าทุกอย่าง คือ ธรรมชาติ ซึ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ถึงวาระที่เราต้องเผชิญกับสิ่งที่ต้องทำให้จิตใจเราเศร้าหมองก็ไม่ได้ต้องบังคับ ฝืนใจตัวเองไม่ให้เสียใจ หรือไม่ให้ร้องไห้ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ระลึกอยู่เสมอว่าเราก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นเดียวกัน และมนุษย์ไม่ได้มีแค่อารมณ์เดียว เราได้สัมผัสอารมณ์เศร้าแล้ว ก็อย่าลืมไปสัมผัสอารมณ์อื่น ๆ ด้วย อย่าได้คิดว่าเราโชคดี ในขณะที่คนอื่นโชคร้าย มีคำกล่าวจากคุณตุลย์ สามีของแม่นุ่น จากเพจ Facebook แม่นุ่น ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม Her2 ระยะสุดท้ายว่า “บางทีความตายของเธอ อาจจะไม่น่ากลัวเท่าการมีชีวิตของฉัน...”
การเดินทางไปโรงพยาบาลแทบทุกวันทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แต่ผู้ป่วยที่ต้องเหนื่อยแต่ฝ่ายเดียว คุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็เหนื่อยไม่แพ้กับเรา ขอให้ผู้ป่วยมะเร็งทุกท่านจงมีความเข้มแข็ง อดทน และไม่ย่อท้อต่อความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ ทั้งเพื่อตนเอง เพื่อคนที่คุณรักและรักคุณ และเพื่อคนที่กำลังพยายามรักษาคุณด้วย ขอให้ทุกท่านใช้กำลังใจ และกำลังกายที่มีอยู่ ที่เก็บเกี่ยวได้ในทุกวัน เพื่อเป็นพลังในการก้าวผ่านจุดเปลี่ยนของธรรมชาตินี้ไปให้ได้สำเร็จ
ในขณะที่เราเขียนบทความนี้การรักษาของเราได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังรอพบคุณหมอในอีก 1 เดือนข้างหน้า เราหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อย ๆ อาการข้างเคียงยังคงมีปราฎให้เห็นอยู่ทุกวัน แต่มันก็ยังไม่หนักหนาเท่ากับสิ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน เรายังรอคอยวันที่คุณหมอจะแจ้งให้เราทราบว่า เราหายขาดจากโรคร้ายนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเวลานานแค่ไหน เราก็จะรอวันนั้น
ขอขอบคุณทุกกำลังใจ ความปรารถนาดี จากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ และมิตรภาพจากทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราในเวลาอันมืดมน ขอบคุณคู่ชีวิตที่ยังอยู่เคียงข้างกันไม่ว่าจะในวันฟ้าใส หรือวันฝนพรำ
ท้ายสุดขอกราบขอบพระคุณคุณหมอ โดยเฉพาะคุณหมอชลเกียรติและ(นศ)แพทย์หญิง (จำชื่อคุณหมอไม่ได้) ที่ได้ดูแลเคสนี้ คุณพยาบาลทุก ๆ แผนก และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้
สุกัญญา พยัคฆ์เกษม
27 สิงหาคม 2559