สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma)

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

ความรู้ทั่วไป

       มะเร็งเนื้อเยื่อหรือ soft tissue sarcoma เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อย สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ชัดเจน ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้แก่ ประวัติการได้รับการฉายรังสีในบริเวณนั้นๆ,​สารเคมีบางชนิด,​ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด มะเร็งเนื้อเยื่อมีลักษณะทางพยาธิวิทยาที่หลากหลาย แบ่งเป็นชนิดย่อยได้มากกว่า 50 ชนิด ตำแหน่งของโรคที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณแขนขา พบได้ร้อยละ 50 รองลงมา ได้แก่ ลำตัว (ร้อยละ 40) และศีรษะและลำคอ (ร้อยละ 10) ตามลำดับ แพทย์วินิจฉัยโรคโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา รวมทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ภาพเอ็มอาร์/เพ็ทสแกนเพิ่มเติมเพื่อจัดระยะของโรค ผู้ป่วยร้อยละ 20 มาพบแพทย์ด้วยโรคระยะแพร่กระจาย อวัยวะที่มักเกิดการแพร่กระจายไป คือ ปอด, กระดูก, ตับ โดยที่พบการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอาจพบได้ในบางชนิดพยาธิวิทยาเท่านั้น พบได้ไม่บ่อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ


หลักการรักษา

       การรักษาหลักคือการผ่าตัดแบบสงวนอวัยวะ (limb sparing surgery) ร่วมกับรังสีรักษา ซึ่งงานวิจัยพบว่าได้ผลการรักษาที่ดี มีอัตราการกำเริบของโรคและอัตราการรอดชีวิตเทียบเท่ากับการตัดทั้งอวัยวะที่มีมะเร็ง (amputation) ซึ่งการตัดทั้งอวัยวะทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการถาวร รังสีรักษาในมะเร็งเนื้อเยื่ออาจทำได้ทั้งก่อนการผ่าตัด (pre-operative) หรือหลังการผ่าตัด (post-operative) ซึ่งทั้งสองวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและพิจารณาวิธีที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับยาเคมีบำบัดเสริมด้วยหากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่และ/หรือผลชิ้นเนื้อเป็นชนิดรุนแรง การฉายรังสีอาจเป็นการรักษาหลักกรณีที่ก้อนผ่าตัดไม่ได้ สำหรับผู้ป่วยระยะแพร่กระจายอาจรับการฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการจากก้อน ชนิดยาเคมีบำบัด, ยามุ่งเป้า (targeted therapy), ภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ขึ้นกับชนิดของชิ้นเนื้อมะเร็ง
       มะเร็งเนื้อเยื่อบางชนิดมีการตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด เช่น มะเร็งเนื้อเยื่อชนิด rhabdomyosarcoma, มะเร็งกระดูกชนิด Ewing’s sarcoma, osteosarcoma เป็นต้น จึงอาจเริ่มการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนำ แล้วตามหลังด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ทั้งนี้ปริมาณรังสีที่ฉายจะแตกต่างกับมะเร็งเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ


การฉายรังสี

       ก่อนการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจำลองการฉายรังสี คือการจัดท่าทางเสมือนวันฉายรังสีจริง หลังจากนั้นจะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยแพทย์จะกำหนดจุดในการฉายรังสี และขีดเส้นบนตัวผู้ป่วย ซึ่งเส้นดังกล่าวใช้เพื่อเทียบตำแหน่งกับวันฉายจริง ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยต้องดูและไม่ให้เส้นเลือนหายไปก่อนวันเริ่มฉายรังสี สำหรับผู้ป่วยที่ตำแหน่งก้อนอยู่ที่ศีรษะและลำคอจะไม่มีเส้นขีดที่ลำตัว เพราะจะมีการทำหน้ากากยึดตรึงศีรษะ โดยแพทย์จะกำหนดจุดบนหน้ากากแทน ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทำภาพเอ็มอาร์เพิ่มเติมเพื่อนำภาพดังกล่าวมาใช้วางแผนการรักษาร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยแพทย์และนักฟิสิกส์ใช้เวลาวางแผนประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มฉายจริง
       การฉายรังสีโดยทั่วไปจำนวน 30-35 ครั้ง วันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 1 ครั้ง รวมระยะเวลา 5-7 สัปดาห์ ระยะเวลาอาจขยายเป็น 35-38 ครั้งกรณีไม่สามารถผ่าตัดก้อนออกได้ หรืออาจเพียง 20-30 ครั้งในชนิดที่ตอบสนองต่อการฉายรังสีดีเช่น rhabdomyosarcoma หรือ Ewing’s sarcoma ระหว่างฉายรังสีแต่ละครั้งใช้เวลา 5-10 นาที ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไร ไม่เจ็บปวด เพียงนอนนิ่งๆ นักรังสีการแพทย์จะเป็นผู้เช็คตำแหน่งให้ตรงกับที่แพทย์วางแผนไว้ แล้วฉายรังสี ผู้ป่วยต้องมารพ.ทุกวันระหว่างฉายรังสี โดยปกติมักไม่จำเป็นต้องลางาน เว้นแต่เดินทางมารพ.ไกล อาจจำเป็นต้องหาที่พักใกล้โรงพยาบาล


ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงขณะฉายรังสี ขึ้นกับตำแหน่งที่ได้รับรังสี ได้แก่

  • การฉายรังสีบริเวณแขนหรือขา: ขนร่วงในบริเวณที่โดนรังสี แผลหายช้า ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการทางผิวหนังในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 เป็นต้นไป เช่น ผิวหนังแดง คัน แห้ง คล้ำขึ้น ในบางรายอาจเกิดผิวหนังลอกในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ บางรายอาจแขนขาบวมเพิ่มขึ้นได้
  • การฉายรังสีบริเวณลำตัว: อ่อนเพลีย หากตำแหน่งก้อนอยู่ในช่องท้องใกล้กับลำไส้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายบ่อยขึ้น อาการข้างเคียงอื่นๆ เหมือนกับการฉายรังสีบริเวณแขนขา หากฉายบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานบริเวณกว้างหรือไขสันหลังอาจมีภาวะเม็ดโลหิตต่ำได้
  • การฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ: ผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีสำหรับมะเร็งศีรษะและลำคอ แนะนำให้อ่านในหัวข้อ “มะเร็งศีรษะและลำคอ” เพิ่มเติม

ผลข้างเคียงระยะยาวที่พบบ่อย ได้แก่ อาการบวม ข้อยึด/ข้อติด เกิดพังผืด ผลข้างเคียงระยะยาวที่พบได้น้อย เช่นกระดูกหัก, เป็นหมัน (หากได้รับรังสีใกล้กับถุงอัณฑะในผู้ชาย หรืออุ้งเชิงกรานในผู้หญิง), การเกิดโรคมะเร็งทุติยภูมิ เป็นต้น


การตรวจติดตาม

     แพทย์จะนัดตรวจติดตามการรักษาเป็นระยะ มักนัดตรวจทุก 3-4 เดือนในช่วง 3 ปีแรก และทุก 6 เดือนในปีที่ 3-5 เมื่อพ้น 5 ปี ไปแล้วมักจะนัดติดตามปีละครั้ง การตรวจติดตามผลมีเป้าหมายเพื่อดูว่ามีมะเร็งกำเริบหรือไม่ และตรวจดูการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งมักจะเกิดการแพร่กระจายในปีแรกๆ หลังการรักษา รวมถึงการเฝ้าระวังผลข้างเคียงระยะยาว แพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพเอ็มอาร์ และการตรวจร่างกาย เพื่อติดตามสุขภาพของผู้ป่วย