ยามุ่งเป้า หรือยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง

รู้จักยารักษามะเร็ง

ยามุ่งเป้า หรือยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง

ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด โดยยากลุ่มนี้จะสามารถลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หรือลดการสร้างเส้นเลือดมาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จะใช้ได้ผลดีเฉพาะผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่จำเพาะต่อยาเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจการกลายพันธุ์ในชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยก่อนการใช้ยากลุ่มนี้

การกลายพันธุ์ของยีนที่พบได้บ่อยในมะเร็งปอด และมีการใช้ยามุ่งเป้าในการรักษา ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน EGFR หรือย่อมาจาก Epidermal Growth Factor Receptor ซึ่งพบได้บ่อยในชาวเอเชียประมาณ 50% โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่มานานกว่า 10 ปีขึ้นไป ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้รักษาจะเป็นรูปแบบยารับประทาน ได้แก่ยาที่มีชื่อว่า Gefitinib, Erlotinib, Afatinib และ Osimertinib ส่วนการกลายพันธุ์อีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยรองลงมา จะเป็นความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า ALK หรือย่อมาจาก  Anaplastic Lymphoma Kinase ซึ่งพบได้ประมาณ 4-5% และพบส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่เช่นกัน
 


ผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวข้างต้น จะตอบสนองดีต่อยามุ่งเป้าได้ถึง 70-80% ทำให้สามารถควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามได้เป็นระยะเวลานาน และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะเกิดการดื้อยากลุ่มนี้ เมื่อใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง และปัจจุบันได้มีการพัฒนายากลุ่มใหม่เพื่อนำมาใช้รักษาในกรณีที่มีการดื้อยาเกิดขึ้น ได้แก่ การดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาต้าน EGFR และมีการกลายพันธุ์ชนิด T790M จะสามารถใช้ยา Osimertinib เพื่อรักษาการดื้อยาดังกล่าวได้ เป็นต้น

ประโยชน์ของยามุ่งเป้าที่ใช้รักษาในมะเร็งปอด ได้แก่
* ปัจจุบันยากลุ่มนี้ ใช้เป็นการรักษาในระยะที่โรคมีการแพร่กระจายแล้วเท่านั้น ส่วนในระยะอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัย

ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้า
แม้ว่ายามุ่งเป้าจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ได้

ผลข้างเคียงจากยามุ่งเป้าที่พบบ่อย ได้แก่

- ผลข้างเคียงทางผิวหนัง ได้แก่ ผื่นผิวหนังคล้ายสิว, ผิวแห้ง, คัน, ขอบเล็บอักเสบ
- ท้องเสีย
- เยื่อบุปากอักเสบ
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร