อาการข้างเคียงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดและการปฏิบัติตน
ยาเคมีบำบัดนอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วในร่างกายด้วย เป็นผลให้เกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย มีจุดเลือดจ้ำเลือดตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปากเจ็บคอ ท้องเสีย อุจจาระมีสีดำ ท้องผูก ผมร่วง อาการเหล่านี้มักเกิดหลังจากได้รับยาประมาณ 7-14 วัน นอกจากนี้ อาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ผิวหนังและเล็บเปลี่ยนสี ฝ่ามือฝ่าเท้ามีสีดำคล้ำและเจ็บ ชาปลายมือปลายเท้า มีเพศสัมพันธ์ได้ยาก มีบุตรยาก และอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น ผลข้างเคียง ที่พบในแต่ละอาการอาจมีความจำเพาะต่อยาแต่ละชนิดหรือขนาดของยาที่ใช้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อยาชนิดและขนาดเดียวกันแตกต่างกันได้
อาการข้างเคียงเหล่านี้มีหลายอย่างที่ป้องกันได้ โดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้ยา หรือมาตรการในการป้องกัน อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไข บรรเทา หรือป้องกันอาการดังกล่าวได้ ดังนั้น ท่านจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาจากยาสูงสุด โดยมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ตามที่ผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษาตั้งใจไว้
อาการไข้
อาการไข้ หมายถึง การที่มีอุณหภูมิในช่องปากมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 1 ชั่วโมง หรือมีอุณหภูมิรักแร้มากกว่าหรือเท่ากับ
37.8 องศาเซลเซียส
สาเหตุ ไข้อาจเป็นอาการนำของภาวการณ์ติดเชื้อ หรืออาการของโรคมะเร็งเอง อาจพบภาวะเม็ดเลือดขาว (ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรคต่าง ๆ) ต่ำลงและเกิดการติดเชื้อ
ได้เมื่อท่านได้รับยาเคมีบำบัด สังเกตได้จากอาการไข้ รู้สึกหนาวสั่น เจ็บรอบ ๆ ทวารหนักหลังการให้ยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะในช่วง 7-14 วัน หลังได้รับยาเคมีบำบัด
วิธีป้องกันการติดเชื้อโดยทั่วไป
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดวัณโรค และงูสวัด เป็นต้น
- เมื่อท่านมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
- ดูแลร่างกายไม่ให้อับชื้น อาบน้ำให้สะอาดทุกวัน โดยใช้สบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่เด็ก
- ระมัดระวังการใช้ของมีคมทุกชนิด
- หากถูกของมีคมบาด ให้รีบทำความสะอาดแผลและปิดด้วยผ้าพันแผล
- ควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการเกิดแผลเวลาทำสวน หรืองานก่อสร้าง
- ทาครีมหรือโลชั่นถนอมผิว เพื่อป้องกันผิวแห้งแตก
- รับประทานอาหารที่สุกและสะอาด หลีกเลี่ยงของสุก ๆ ดิบ ๆ หรือของหมักดอง เช่น แหนม ปลาร้า ก้อย ส้มตำ และยำต่าง ๆ เป็นต้น
- เมื่อท่านมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักและผลไม้สด
- แปรงฟันให้สะอาด ด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม
- ควรมีเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดไข้ติดตัวไว้ ถ้าท่านสงสัยว่ามีไข้ควรวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อยืนยันอาการ
- หากมีอาการไข้ภายหลังจากการได้รับยาเคมีบำบัด ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน
วิธีการรักษาเมื่อมีไข้
1. รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดดูว่าเม็ดเลือดขาวต่ำหรือไม่ ถ้าจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะให้โดยด่วน และรับตัวไว้รักษาใน
โรงพยาบาลทันที
2. อาจลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่วงเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือในระยะเวลาที่มีไข้และเม็ดเลือดขาวต่ำได้ด้วยการฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว
ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล
โลหิตจาง
อาการ ซีด เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก มึนศีรษะ อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารทำให้อุจจาระมีสีดำ แต่อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ อ่อนเพลีย
สาเหตุ เกิดจากเม็ดเลือดแดงมีจำนวนลดลง ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด มีเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือมีการสูญเสียเลือด รวมทั้งภาวะ
โรคมะเร็งเองก็อาจทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำลงได้เช่นเดียวกัน
วิธีบรรเทาอาการ
- รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ตับ ผักใบเขียว อาหารที่มีโปรตีน และวิตามินสูง
- พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ไม่หักโหม เช่น เปลี่ยนจากวิ่งมาเป็นเดินช้า ๆ และทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ แต่ปรับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
วิธีการรักษา โดยการให้เลือด หรือยาฉีดกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์โดยประเมินจากสภาวะของผู้ป่วย
มีจุดเลือดหรือจ้ำเลือด
อาการ มีจุดเลือดหรือจ้ำเลือดขึ้นตามตัว เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มีจุดแดงเล็ก ๆ ที่ตาขาว ลำตัว แขน และขา ประจำเดือนมามาก หากเป็นแผลเลือดออก
เลือดจะหยุดไหลได้ช้า แม้ว่าจะเป็นแผลขนาดเล็กก็ตาม
สาเหตุ เกิดจากจำนวนเกล็ดเลือดต่ำหลังได้รับยาเคมีบำบัด
วิธีป้องกันการเกิดแผลเลือดออกหรือบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดบาดแผล หรือเกิดการบาดเจ็บ เช่น ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซด์ ตัดไม้ผ่าฟืน ตัดเย็บเสื้อผ้า หรือทำฟัน
- เลือกการออกกำลังกายเบา ๆ ไม่หักโหม เช่น เดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น
- ใช้ที่โกนหนวดไฟฟ้าแทนใบมีดโกน เพราะทำให้เกิดแผลน้อยกว่า
- ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ๆ
- ไม่ควรซื้อยากินเอง เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อบางชนิดที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เพราะจะไปรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด
และทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
วิธีการรักษา แพทย์อาจพิจารณาให้เกล็ดเลือดในรายที่มีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ และ/หรือมีอาการเลือดออก
คลื่นไส้ อาเจียน
อาการ อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับยา 2-3 ชั่วโมง หรือหลังจากรับยาแล้วนานเป็นวัน ท่านอาจรู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวในปาก เวลาเรออาจมีน้ำดีที่มีลักษณะ
สีเขียวๆ และเปรี้ยวออกมาด้วย
สาเหตุ อาจเกิดจากยา โรค หรือความเครียด
วิธีป้องกัน แพทย์มักจะให้ยาป้องกันการอาเจียน ก่อนที่จะให้ยาเคมีบำบัด
วิธีบรรเทาอาการ
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ขนมปัง แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารร้อนเพราะมีกลิ่น และทำให้ท่านรู้สึกอยากอาเจียนมากขึ้น
- รับประทานอาหารเหลว ใส หรือเครื่องดื่มเย็น ๆ เช่น น้ำผลไม้ น้ำขิง โดยใช้หลอดดูดช่วย
- รับประทานทีละน้อย แต่บ่อยมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นฉุน รสจัด อาหารมัน อาหารทอด เพราะจะทำให้ท่านรู้สึกอยากอาเจียนมากขึ้น
- ทำความสะอาดปากและฟันหลังทานอาหารทุกมื้อ
- พักผ่อนมาก ๆ หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือดูรายการโทรทัศน์ที่ชอบ
- รับประทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียนตามแพทย์สั่ง
หากมีอาการอาเจียนมากกว่า 3 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง อาเจียนเป็นเลือดหรือมีน้ำดีปนออกมา อาเจียนมากจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้นานกว่า 1 วัน
อาเจียนมากจนไม่สามารถรบประทานยาได้ หากมีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
เจ็บปากเจ็บคอ
อาการ อาจมีแผลหรือมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนในปาก ช่องปากและเหงือกมีสีแดงเป็นมัน บวม และไวต่อความร้อนเย็นของอาหาร ริมฝีปากแห้ง มีเลือดออก
มีฝ้าขาว มีหนอง หรือมีเมืองในปากมากขึ้น
สาเหตุ ยาเคมีบำบัดอาจมีผลทำลายเซลล์เยื่อบุช่องปากได้
วิธีบรรเทาอาการ
- อมน้ำแข็ง หรือรับประทานไอศกรีม เพราะความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการได้
- รับประทานอาหารอ่อน กลืนง่าย รสจืด ไม่ร้อนจัด และอาจใช้หลอดดูดช่วย เช่น นมเปรี้ยว น้ำซุป น้ำขิง หรือนมเย็น เป็นต้น
- บดอาหารที่แข็งหรือย่อยยากก่อนรับประทาน เช่น ขนมปังกรอบ
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ 2-3 ครั้งต่อวัน (น้ำยาบ้วนปากที่มีขายทั่วไปจะมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จะทำให้เจ็บปากมากขึ้น จึงควรผสมน้ำให้เจือจางก่อนใช้)
- แปรงฟัน 2-3 ครั้งต่อวัน ด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม
- ทาริมฝีปากให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอด้วยลิปสติกมัน หรือวาสลิน
- รักษาความชุ่มชื่นของเยื่อบุช่องปากอยู่เสมอ โดยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- งดใส่ฟันปลอมในระหว่างรับยาเคมีบำบัด
- งดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากพลู และงดดื่มสุรา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น อาหารประเภทยำ ส้ม มะนาว รวมทั้งน้ำอัดลมด้วย
- หากมีแผลบริเวณปาก หรือมีอาการเจ็บปากเจ็บคอรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจมีการติดเชื้อโรคเริมได้ จึงควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
ท้องเสีย
อาการ ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่าปกติ
สาเหตุ อาจเกิดจากโรค ยาก หรือการติดเชื้อ
วิธีบรรเทาอาการ
- รับประทานอาหารที่สุก สะอาด
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไข่ มันนึ่ง หรือมักกะโรนี เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น กล้วย ข้าว ขนมปัง หรืออาหารเหลว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน เผ็ด ทอด และอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้สด เพราะจะกระตุ้นให้ท้องเสียมากขึ้น
- งดดื่มนม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กาแฟใส่นม และน้ำผลไม้ทุกชนิด
- ดื่มน้ำมาก ๆ อาจดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำชาจีนแทนได้
- หลังถ่ายอุจจาระเสร็จทุกครั้ง ให้ล้างทำความสะอาดบริเวณทวารหนัก แล้วซับให้แห้ง
- สังเกตุผิวหนังบริเวณทวารหนักว่าแห้ง แดง แตก มีอาการเจ็บมีเลือดออกปนมากับอุจจาระ หรือมีไข้หรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
หากมีอาการรุนแรงมาก ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
ท้องผูก
อาการ ถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องออกแรงเบ่งมากเนื่องจากอุจจาระแห้งแข็ง ไม่ถ่ายอุจจาระตามเวลาที่เคยถ่าย หรือไม่ถ่ายอุจจาระติดต่อกัน 3 วัน
สาเหตุ อาจเกิดจากโรค ยา การติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือดื่มน้ำน้อย
วิธีบรรเทาอาการ
- รับประทานอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ
- ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว อาจเป็นน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะตูม น้ำตะไคร้ และน้ำลูกพรุน เป็นต้น
- ออกกำลังกายและหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายตามความสามารถอย่างสม่ำเสมอ
- เมื่อปวดถ่ายอุจจาระไม่ควรกลั้นไว้
ห้ามใช้ยาถ่ายแบบสวนทวารเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อน หากมีอาการรุนแรงมาก เช่น ไม่ถ่ายอุจจาระติดต่อกัน 3 วัน อุจจาระมีเลือดปน
ปวดเกร็งที่ท้อง คลื่นไส้อาเจียนอยู่เรื่อง ๆ ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
ผมร่วง
ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจทำให้ผมร่วงได้ แต่ไม่ต้องกังวล เมื่อจบการรักษาแล้ว ผมจะงอกขึ้นมาใหม่เอง
วิธีบรรเทาอาการ
- ตัดผมสั้น จะทำให้ดูแลง่าย และดูเหมือนมีผมหนากว่า
- ใช้แชมพูอ่อน ๆ เช่น แชมพูเด็ก
- ใช้แปรงขนนิ่ม หวีซี่ห่าง ๆ และอย่าหวีผมบ่อย
- ถ้าจำเป็นต้องใช้ที่เป่าผม ควรใช้ลมธรรมดา ไม่ใช้ลมร้อน
- ไม่ควรดัด หรือย้อมผม เพราะน้ำยาดัดหรือน้ำยาย้อมผมอาจระคายเคืองหนังศีรษะที่มีผมปกคลุมน้อย
- อาจใช้น้ำมันเพิ่มความชุ่มชื้น หรือโลชั่นสำหรับหนังศีรษะ เพื่อช่วยลดอาการคันและแห้งของหนังศีรษะ
- อาจใช้วิก หรือผ้าคลุมผมเพื่อเสริมบุคลิกภาพ
ผิวหนังและเล็บเปลี่ยนสี
อาการ ผิวหนังและเล็บแห้ง หยาบ มีสะเก็ด มีสีดำคล้ำ อาการนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อหยุดยาก็จะหายไป
วิธีบรรเทาอาการ
- ทาครีม หรือโลชั่น ให้ผิวชุ่มชื้น
- สวมเสื้อแขนยาว สวมหมวก หรือใช้ร่มเพื่อป้องกันแสงแดด
- ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน
- ตัดเล็บให้สั้น และดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ
- เวลามีอาการคัน ห้ามเกา ให้ถูเบา ๆ ด้วยฝ่ามือ กด บีบ สั่น หรือแกว่งอวัยวะแทน
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่มีเนื้อผ้าอ่อนนุ่ม บางเบา
- เปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อย ๆ
- อยู่ในที่อากาศเย็นสบาย อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ฝ่ามือฝ่าเท้ามีสีแดง หรือดำคล้ำและเจ็บ
อาการนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อหยุดยาแล้วจะหายไปเอง แต่อาจใช้เวลานาน
วิธีบรรเทาอาการ
- ประคบเย็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า
- ใช้โลชั่นบำรุงผิวทาฝ่ามือฝ่าเท้า
หากฝ่ามือฝ่าเท้ามีอาการบวม แดง ผิวหนังลอก หรือเจ็บมาก ควรปรึกษาแพทย์
ชาปลายมือปลายเท้า
อาการนี้มักเป็นอยู่นาน สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ แต่อาจใช้เวลานาน
วิธีบรรเทาอาการ
- ออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อ
- ปรึกษาแพทย์เพื่อรับวิตามิน หรือยาบรรเทาอาการ
หากมีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ความสามารถในการมีเพศสัมพันธ์และการมีบุตรลดลง
ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งยังขึ้นอยู่กับอายุและสภาพร่างกายทั่วไปของท่านด้วย
เพศชาย
-
ผิวหนังบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์อาจมีอาการคัน แห้ง เจ็บ ทำให้มีเพศสัมพันธ์ได้ยาก อาจใช้ครีมหล่อลื่นช่วย
-
ยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อการผลิตอสุจิ และความสามารถในการเคลื่อนไหวของอสุจิ จึงอาจทำให้มีลูกยาก
-
ในผู้ป่วยที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อขอคำแนะนำในการเก็บอสุจิไว้ในธนาคารอสุจิ
(วิธีการนี้สามารถทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง)
-
ควรใช้ถุงยางอนามัยและไม่ควรมีบุตร ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
เพศหญิง
-
ช่องคลอดอาจมีอาการแห้ง ทำให้มีเพศสัมพันธ์ได้ยากหรือเจ็บ อาจใช้ครีมหล่อลื่นช่วย
-
ยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อรังไข่ และอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ จึงอาจทำให้มีลูกยาก
-
ในผู้ป่วยที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อขอคำแนะนำในการเก็บไข่ไว้ในธนาคาร
(วิธีการนี้สามารถทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง)
-
ควรคุมกำเนิดในระหว่างให้ยาเคมีบำบัด เพราะยาเคมีบำบัดหลายชนิดอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์
อารมณ์
สาเหตุ อาจมีอารมณ์แปรปรวน หรือมีความกังวลสูง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคหรือยาก็ได้
วิธีบรรเทาอาการ
- ควรจะทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ไม่ท้อถอยต่อการรักษา และจำไว้เสมอว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะหายไปเมื่อจบการรักษาแล้ว
- ญาติควรเอาใจใส่ พูดคุยให้กำลังใจอยู่เสมอ
- ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ไม่ต้องงดอะไร แต่ปรับกิจกรรมที่ทำให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่าน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือหางานอดิเรกทำ
ท่านควรรีบมาพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ (รีบไปสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด)
-
มีอาการซีดมาก อ่อนเพลียมาก เหนื่อยหอบ หรือหน้ามืดมีไข้ (วัดไข้ซ้ำอีกครั้งใน 1 ชั่วโมงต่อมา หากยังมีไข้ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที โดยห้ามกินยา
ลดไข้เด็ดขาด) หรือมีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ในช่วง 7-14 วัน หลังได้รับยาเคมีบำบัด
-
มีจุดเลือดจ้ำเลือดขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีจุดแดงที่ตาขาว ลำตัว แขน และขา
-
อาการข้างเคียงต่าง ๆ มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ท้องเสียรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง
-
น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างรวดเร็ว
-
มีผื่น หรือตุ่มขึ้นตามร่างกาย
-
สูญเสียการทรงตัว