การดูแลตนเองของผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน
การดูแลตนเองของผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน
ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกรานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะได้ การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น
ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
การฉายแสงบริเวณนี้จะมีผลกระทบต่อลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้เล็ก ซึ่งมีความไวต่อรังสี ทำให้การดูดซึมอาหารลดลง การเคลื่อนไหวของลำไส้มากขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดหรือเกิดอาการปวดถ่วงบริเวณทวารหนัก
อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องอืด ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ
2. รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
3. ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
4. ควรรับประทานอาหารเสริม เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำขิง หรืออาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่จำหน่ายทั่วไป
อาการท้องเสีย ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องเสียมากยิ่งขึ้น เช่น นมสด ผักผลไม้ อาหารหมักดอง รสจัด
2. รับประทานอาหารอ่อนที่ดูดซึมง่าย เช่น น้ำซุป น้ำหวาน ขนมปังกรอบ ข้าวต้ม โจ๊ก
3. ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
4. ควรดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มผสมเกลือแร่ ORS
อาการปวดถ่วงบริเวณทวารหนัก ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่ควรให้ท้องผูก เพราะอุจจาระที่แข็งจะทำให้ลำไส้ที่กำลังอักเสบเกิดแผลและเลือดออกได้
2. หลีกเลี่ยงยาที่อาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ยาแก้ปวด หรือยาบำรุงเลือดบางชนิด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือระคายเคืองได้
3. หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ เพราะจะทำให้เลือดคั่งบริเวณทวารหนักเส้นเลือดดำโป่งพอง ทำให้ปวดมากขึ้น
ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์
การฉายรังสีบริเวณช่องท้องและช่องเชิงกราน จะมีผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์ได้คือ จะมีผลกระทบต่อรังไร มดลูก ช่องคลอดและต่อมผลิตสารหล่อลื่นภายในช่องคลอดอาจเกิดอาการช่องคลอดแห้ง คัน หรืออาจเกิดตกขาว หรือมีน้ำใสๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเกิดจากการที่เนื้องอกถูกทำลายร่วมกับการอักเสบของเยื่อบุภายในช่องคลอดอาการเหล่านี้ไม่มีอันตรายใดๆ แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญ หรือการนำไปสู่การอักเสบหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ไม่ควรใส่กางเกง หรือกางเกงในที่มีขอบแข็ง หรือรัดแน่นจนเกินไป
2. หลังการถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำและซับเบา ๆ ให้แห้ง ไม่ควรเช็ดถูแรง ๆ
3. ในกรณีที่มีตกขาว เลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาทางช่องคลอด ควรใส่ผ้าอนามัย และควรเปลี่ยนบ่อยๆ ผ้าอนามัยที่ใช้ควรเป็นชนิดแถบกาวที่ติดกับกางเกงใน โดยใช้กางเกงในที่กระชับพอดี หรือชนิดห่วงที่มีสายโยง จะช่วยลดการเสียดสีได้
4. ตกขาวที่ออกมามาก อาจทำให้เกิดการเหนอะหนะ รำคาญ มีกลิ่น หรือเกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรสวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้ให้เย็น อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
5. ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการฉายรังสี เพราะระหว่างการฉายรังสี จะมีการอักเสบของเยื่อบุช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การฉายรังสีบริเวณช่องเชิงกราน จะมีผลทำให้เป็นหมันได้ ในกรณีที่ท่านยังต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรักษาจะเริ่มขึ้น เมื่อได้รับการฉายรังสีครบแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติและเป็นการป้องกันช่องคลอดตีบแคบด้วย
ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ
การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ อาจเป็นผลเนื่องมากจากการฉายรังสีจากภายนอก ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบขัดหรือรู้สึกเสียวเวลาปัสสาวะ ปวดท้องน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
ข้อปฏิบัติ
1. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
2. เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะกระเพาะปัสสาวะอาจเกิดการอักเสบได้
3. เมื่อมีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือมีปัสสาวะปนเลือด ควรรีบแจ้งแพทย์
การบริหารร่างกาย
1. ก้มตัวสลับกับแอ่นตัวไปข้างหลัง
2. ส่ายสะโพกเป็นวงกลมช้าๆ
3. นอนหงาย วางมือราบกับพื้น สะโพกและขาเหยียดตรง เริ่มบริหารโดยค่อย ๆ งอเข่าและสะโพกข้างหนึ่งเข้าหาตัวให้เต็มที่ จากนั้นเหยียดสะโพกออกเล็กน้อย โดยเข่ายังงออยู่ แล้วงอสะโพกเข้าไปเต็มที่อีกครั้ง จากนั้นเหยียดเข่าและสะโพกกลับสู่ท่าพักตอนแรก ให้ทำเช่นเดียวกันในขาอีกครั้งหนึ่ง
4. ยืนตรง มือข้างหนึ่งท้าวบนโต๊ะหรือฐานที่มั่นคง แกว่งขาไปข้างหน้าและหลังสลับกัน ทำเช่นเดียวกันทั้ง 2 ข้างในการบริหารท่านี้ต้องมั่นใจว่าสามารถยืนมั่นคงในเท้าข้างเดียวได้
5. ยืนตรง กางขาออกทางด้านข้าง และหุบกลับในท่าเดิมทำสลับกันในขาข้างซ้ายและขวา
6. นอนหงาย งอเข่าและสะโพก โดยให้มุมใต้เข่ากางประมาณ 60 องศา ฝ่าเท้าวางราบกับพื้น จากนั้นหมุนสะโพกให้หัวเข่าหมุนตามไปทางด้านขาตรงข้าม ต่อไปกางออกให้เต็มที่และกลับสู่ท่าแรก พัก และทำสลับข้างในท่าตามลำดับเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เวลานอนควรยกขาสูงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งของเลือดในบริเวณขา