ข้อมูลเกี่ยวกับโรค

การปฏิบัติตัวขณะได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะ หู คอ จมูก ช่องปาก และลำคอ

การปฏิบัติตัวขณะได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะ หู คอ จมูก ช่องปาก และลำคอ

1. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายร้งสีบริเวณศีรษะ ถ้ามีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบทันที

2. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณใกล้ลูกตา ทำให้ตาแห้ง เยื่อบุตาอักเสบ ระคายเคืองในลูกตา ห้ามขยี้ตา ให้ล้างตาด้วยน้ำต้มสุก และหยอดตาตามแพทย์สั่ง

3. ผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณหู จมูก ถ้ามีอาการอุดตันของจมูก มีเลือดกำเดาออก หูอื้อ หรือไม่ได้ยินเสีย ห้ามเป่าหรือแคะเด็ดขาดเพราะจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องปากและลำคอ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้ ผิวหนังแดงคล้ำ ปากและคอแห้ง เยื่อบุช่องปากอักเสบ และการรับรู้รสอาหารเปลี่ยนไป

ผิวหนังแดงคล้ำโดยปกติผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณช่องปาก และลำคอ จะได้รับรังสีในปริมาณที่สูงกว่าการฉายรังสีบริเวณอื่น โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 6-7 สัปดาห์ทำให้พบภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสีบริเวณผิวหนังได้ คือ เมื่อฉายรังสีประมาณ 4-5 สัปดาห์ ผิวหนังจะ แห้งมีสีแดงคล้ำ การดูแลผิวหนังบริเวณนี้จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยอย่าเกาหรือถูแรงๆ (ในช่วงนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาทาผิวหนังเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นป้องกันผิวหนังแห้งแตกเป็นแผล) หลังจบการฉายรังสี ให้ถูกน้ำได้ ฟอกสบู่ได้ และซับด้วยผ้านุ่มๆ อย่าเช็ดแรงๆ เป็นอันขาด หากดูแลได้ถูกต้อง ผิวหนังก็จะแห้งลอกได้เอง แต่หากการดูแลไม่ถูกต้องจะทำให้ผิวหนังแตกเป็นแผลเปียกคล้ายแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ซึ่งมักเกิดเพราะได้รับการเสียดสีจากขอบตะเข็บเสื้อผ้า มิใช่เกิดจากแผลเนื้องอกลุกลาม แผลชนิดนี้

เมื่อเป็นแล้วจะหายช้า ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าเป็นมากในขณะฉายรังสี แพทย์อาจพิจารณางดการฉายรังสีชั่วคราวปากและคอแห้งเมื่อฉายรังสีไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการปากและคอแห้ง ซึ่งเกิดจากผลของรังสีต่อต่อมน้ำลาย ถ้าน้ำลายน้อยและเหนียว ท่านสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวโดย

1. จิบน้ำบ่อยๆ วันละ 6-8 แก้ว และควรนำขวดน้ำติดตัวขณะเดินทาง

2. หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ระคายเคืองและปากแห้ง ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ 0.9% ทุก 1-2 ชั่วโมง

 

เยื่อบุช่องปากอักเสบ

เยื่อบุช่องปากอักเสบ จะมีลักษณะเป็นจ้ำแดงๆ กระจายทั่วไป ถ้าเป็นมากจะเป็นสีแดงและมีจุดสีเหลืองเป็นหย่อมๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บระคายเคืองได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก และอาจมีเลือดออกได้ถ้าได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี อาการอักเสบจะคงอยู่เพียงเล็กน้อยตลอดระยะเวลาของการฉายรังสี แต่ถ้าดูแลไม่ถูกต้องโดยเฉพาะรักษาความสะอาดช่องปากและฟันไม่เพียงพอจะทำให้อาการเป็นมากขึ้น และยังติดเชื้อในช่องปากได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อรา ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

1. รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม ไม่ต้องเคี้ยวมาก และมีรสจืด ควรรับประทานในขณะที่ทิ้งไว้ให้เย็นเสียก่อนอย่ารับประทานขณะร้อน หรืออุ่นๆ เพราะจะระคายเคือง ทำให้เจ็บมาก

2. งดสารระคายเคืองต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ หมากพลู

3. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 2 ชั่วโมง

4. รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังอาหารทุกมื้อ

5. ใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเล็กที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม เพื่อลดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ หากมีเยื่อบุในช่องปากอักเสบควรใช้ผ้าสะอาดพันนิ้วมือแล้วเช็ดทำความสะอาดฟัน เหงือกและซอกฟันแทนการแปรงฟัน

6. ควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์

7. ถ้ามีการอักเสบของริมฝีปาก ห้ามใช้ Gentian Violet ทา เพระาจะทำให้ริมฝีปากแห้งมากขึ้นและยิ่งลุกลามเป็นแผลแตก ควรใช้วาสลีนหรือลิปสติกชนิดมันแทน ถ้ามีแผลอักเสบของเยื่อบุในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือเพดาน ให้แจ้งแพทย์ พยาบาล เพื่อพิจารณาให้ยาทาการรับรู้รสอาหารเปลี่ยนไปการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียรสชาติของอาหาร เป็นผลของรังสีที่มีต่อต่อมรับรสและต่อมน้ำลายในปาก อาการนี้จะเริ่มตั้งแต่เริ่มการรักษา และค่อยๆ กลับคืนได้ภายใน 2-3 เดือน เมื่อหยุดการฉายรังสี ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. ดูแลความสะอาดในช่องปากและฟัน แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร

2. จัดอาหารให้น่าดูรับประทาน เปลี่ยนรายการอาหารไม่ให้ซ้ำกันบ่อย

3. ควรรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยแกงจืด หรืออาหารเหลว จะช่วยให้กลืนสะดวก ควรรับประทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง

4. รับประทานอาหารเสริมระหว่างมื้อ เช่น นมสด น้ำผลไม้

5. จัดสิ่งแวดล้อมให้มีบรรยากาศที่ชวนรับประทานอาหาร

6. ใส่เครื่องปรุงแต่งรสอาหารที่ท่านชอบ เช่น เนย น้ำมันกระเทียมเจียว

7. ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานสูง เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และทำให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วการบริหารร่างกายเพื่อป้องกันปากแคบและขากรรไกรยึด

 

ท่าที่ 1 อ้าปากกว้างๆ และหุบปาก ประมาณ 20 ครั้ง ควรทำบ่อยๆ และทุกครั้งที่นึกได้

 

 

                                  

 

 


ท่าที่ 2 อมท่อนพลาสติก หรือจุกไม้ก๊อกที่สะอาด ครั้งละ 1 นาที อย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง ท่อนพลาสติก หรือจุกไม้ก๊อกควรมีขนาดใหญ่ๆ ให้อ้าปากกว้างได้เต็มที่ และควรเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 

 

                               

 


     

การบริหารบริเวณลำคอ เพื่อป้องกันมิให้เนื้อเยื่อ พังผืดมายึดบริเวณลำคอท่าที่ 1 หันหน้าไปทางซ้ายสุด และค่อยๆ หันไปขวาจนสุด ทำซ้ำๆ ประมาณ 20 ครั้ง ควรทำบ่อยๆ และทุกครั้งที่นึกได้

 

 

                

 

 


ท่าที่ 2 ก้มศีรษะจนคางชิดอกแล้วค่อยๆ แหงนศีรษะจนสุดทำช้าๆ ซ้ำๆ หลายครั้ง

 

 


              

 

 

 

ท่าที่ 3 หมุนศีรษะไปทางซ้าย 3 รอบ และขวา 3 รอบ สลับกันไปวันละหลายๆ ครั้ง

 

 

                

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์