การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยา
อาจารย์แพทย์หญิงณัฏยา ภู่วรวรรณ
สาขาวิชาโรคมะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โรคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma )เป็นโรคมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับต้นๆทั้งทั่วโลกและโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) และซี(HCV)ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมีความแตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย การพิจารณาแนวทางการรักษาจึงต้องคำนึงถึงสองภาวะนี้ควบคู่กันไป จึงต้องมีการดูแลรักษาอย่างเป็นองค์รวมโดยทีมแพทย์ในหลายสาขา การรักษาโรคมะเร็งตับ ประกอบไปด้วยหลายวิธี อาทิ
-
การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก (hepatectomy)
-
การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนตับ (liver transplantation)
-
การใช้คลื่นพลังงานหรือสารต่างๆจี้หรือฉีดไปที่ก้อนเพื่อทำลายมะเร็งโดยตรง (ablation) มีหลายชนิดย่อย อาทิ ฉีดแอลกอฮอล์ (percutaneous alcoholinjection),การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (RadioFrequency Ablation, RFA),การใช้คลื่นไมโครเวฟ (microwave ablation), การใช้ความเย็น(cryoablation) เป็นต้น
-
การใส่สายสวนไปที่เส้นเลือดแดงเพื่อใส่สารหรือยาเคมีบำบัดไปอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (TransArterial ChemoEmbolization, TACE)
-
การฉายรังสีไปที่ก้อน (Radiotherapy)
-
การรักษาด้วยยา (systemic therapy)
โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกการรักษาด้วยวิธีต่างโดยพิจารณาจาก ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็ง ระยะและการลุกลามของโรค สภาพการทำงานของตับ และสภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการรักษาโรคมะเร็งตับโดยการใช้ยา (systemic therapy) ซึ่งมีข้อบ่งชี้หลัก ดังนี้
-
ก้อนมะเร็งยังอยู่ในตับ แต่มีขนาดใหญ่ หรือ อยู่ตำแหน่งที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ก้อนมะเร็งลุกลามไปถึงหลอดเลือดหลักไปเลี้ยงตับ จึงไม่สามารถใช้วิธีผ่าตัด หรือ อุดเส้นเลือด (TACE) ได้ เป็นต้น
-
ก้อนมะเร็งมีการกระจายออกมานอกตับแล้ว
-
สภาพร่างกายของผู้ป่วยและการทำงานของตับยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่มีภาวะตับแข็งระดับรุนแรง
โดยยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านหลายกลไก แต่กลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งขบวนการสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง ในปัจจุบัน มี 2 รูปแบบ
1.1 ยาแบบรับประทาน มีหลายชนิด อาทิ Sorafenib, Lenvatinib, Regorafenib และ Cabozantinib เป็นต้น ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่มนี้ได้แก่ มือเท้าแห้งแตกและลอก ปวดฝ่ามือฝ่าเท้า ท้องเสีย เบื่ออาหาร และ ความดันโลหิตสูง
1.2 ยาแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ได้แก่ Bevacizumab และ Ramucirumab ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่มนี้ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ โดยเฉพาะกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
2. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ออกฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง โดยยาที่ได้รับรองให้รักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบัน ได้แก่ Atezolizumab (ใช้ร่วมกับยาBevacizumab) และ Nivolumab ส่วนใหญ่ยากลุ่มนี้ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง แต่ยาภูมิคุ้มกันบำบัดอาจกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากและเกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆได้ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ อย่างไรก็ตาม การเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ พบได้ไม่บ่อยนัก
3. ยาเคมีบำบัด(Chemotherapy) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาด้วยยาหากผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาหลักข้างต้นได้ ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับ ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เม็ดเลือดขาวต่ำ และอาจมีอาการชาบริเวณปลายมือปลายเท้าหากได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน