ยาเคมีบำบัด

การรักษามะเร็งปอดด้วยยาต้านมะเร็ง

อาจารย์แพทย์หญิงปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์
สาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดด้วยยาต้านมะเร็ง ได้มีความก้าวหน้าในการรักษาเป็นอย่างมาก ทำให้การรักษามะเร็งปอด มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งที่พบในผู้ป่วยแต่ละราย และมีผลข้างเคียงจากการรักษาลดน้อยลง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)


ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

ยาเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่า “เคโม” หรือ “คีโม”  เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็ว โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง แต่ก็มีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน อย่างเช่น เส้นผม เซลล์เยื่อบุผิว และเซลล์เม็ดเลือด ทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ได้แก่ ผมร่วง ท้องเสีย และเม็ดเลือดต่ำกว่าปกติได้ ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีมากขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลงกว่ายาเคมีบำบัดกลุ่มเดิม รวมทั้งยังมียาที่ช่วยป้องกันและรักษาอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว ทำให้การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาได้ผลดีกว่าเดิม และมีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้

ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งปอดมีด้วยกันหลายชนิด มีทั้งแบบให้ยาหลายตัวร่วมกันหรือแบบให้ยาตัวเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค อายุ และสภาพความพร้อมของผู้ป่วย โดยจะเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำทางสายน้ำเกลือ การให้ยาเคมีบำบัดนั้น จะให้การรักษาเป็นรอบ โดยแต่ละรอบของการรักษา มักจะห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์  

ประโยชน์ของยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาในมะเร็งปอด ได้แก่

  • ใช้เป็นการรักษาเสริมตามหลังการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสให้โรคหายขาดมากขึ้น หรืออาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพือลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
  • ใช้ร่วมกับรังสีรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
  • ใช้เป็นการรักษาหลักในระยะที่โรคมีการแพร่กระจาย

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ส่วนใหญ่สามารถให้การป้องกัน หรือให้การรักษาได้ เพื่อลดความรุนแรงของผลข้างเคียงลงได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ และผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และหายไปเมื่อให้การรักษาจนครบ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีผลข้างเคียงรุนแรงจนไม่สามารถให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดต่อไปได้

ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียนพบได้บ่อย ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับยา และอาจเกิดได้นานถึง 3-7 วัน ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะมีการใช้ยาป้องกันอาการอาเจียนก่อนการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ ซึ่งได้ผลดี สามารถให้การป้องกันอาการอาเจียนได้ในผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหารเป็นได้ในช่วงสัปดาห์แรกของการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลทำให้การรับรสอาหารเปลี่ยนแปลง ความอยากรับประทานอาหารลดลง รวมทั้งตัวโรคมะเร็งเอง ก็ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียพลังงาน การรับประทานอาหารให้มีพลังงานที่เพียงพอและครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ โดยทานครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนหรือนอนหลับให้มากขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือออกกำลังที่หักโหมจนเกินไป สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงนี้ได้
  • เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำและติดเชื้อง่ายขึ้นเกิดจากยาเคมีบำบัดมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดต่างๆลดลง โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่ลดลง (เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเฉพาะ 10-14 วันหลังได้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองเพื่อมิให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร  และหลังจากเข้าห้องน้ำแล้ว, ดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปาก ไม่ให้เกิดแผลในปาก, หลีกเลี่ยงการพบปะหรือสัมผัสผู้อื่นที่เป็นหวัด  มีไข้ หรือติดเชื้อ และสถานที่แออัด เป็นต้น และปัจจุบันมียาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก
  • ผมร่วงเกิดจากยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดเพียงบางชนิดเท่านั้น โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัดครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์  โดยจะร่วงมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด แต่อาการนี้จะเป็นชั่วคราวในช่วงที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดเท่านั้น และผมจะงอกใหม่หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดครั้งสุดท้ายประมาณ 3-4 เดือน 

ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด โดยยากลุ่มนี้จะสามารถลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หรือลดการสร้างเส้นเลือดมาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จะใช้ได้ผลดีเฉพาะผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่จำเพาะต่อยาเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจการกลายพันธุ์ในชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยก่อนการใช้ยากลุ่มนี้

การกลายพันธุ์ของยีนที่พบได้บ่อยในมะเร็งปอด และมีการใช้ยามุ่งเป้าในการรักษา ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน EGFR หรือย่อมาจาก Epidermal Growth Factor Receptor ซึ่งพบได้บ่อยในชาวเอเชียประมาณ 50% โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่มานานกว่า 10 ปีขึ้นไป ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้รักษาจะเป็นรูปแบบยารับประทาน ได้แก่ยาที่มีชื่อว่า Gefitinib, Erlotinib, Afatinib และ Osimertinib ส่วนการกลายพันธุ์อีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยรองลงมา จะเป็นความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า ALK หรือย่อมาจาก  Anaplastic Lymphoma Kinase ซึ่งพบได้ประมาณ 4-5% และพบส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่เช่นกัน

ผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวข้างต้น จะตอบสนองดีต่อยามุ่งเป้าได้ถึง 70-80% ทำให้สามารถควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามได้เป็นระยะเวลานาน และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะเกิดการดื้อยากลุ่มนี้ เมื่อใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง และปัจจุบันได้มีการพัฒนายากลุ่มใหม่เพื่อนำมาใช้รักษาในกรณีที่มีการดื้อยาเกิดขึ้น ได้แก่ การดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาต้าน EGFR และมีการกลายพันธุ์ชนิด T790M จะสามารถใช้ยา Osimertinib เพื่อรักษาการดื้อยาดังกล่าวได้ เป็นต้น

ประโยชน์ของยามุ่งเป้าที่ใช้รักษาในมะเร็งปอด ได้แก่

* ปัจจุบันยากลุ่มนี้ ใช้เป็นการรักษาในระยะที่โรคมีการแพร่กระจายแล้วเท่านั้น ส่วนในระยะอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัย


ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้า

แม้ว่ายามุ่งเป้าจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ได้

ผลข้างเคียงจากยามุ่งเป้าที่พบบ่อย ได้แก่

  • ผลข้างเคียงทางผิวหนัง ได้แก่ ผื่นผิวหนังคล้ายสิว, ผิวแห้ง, คัน, ขอบเล็บอักเสบ
  • ท้องเสีย
  • เยื่อบุปากอักเสบ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

เป็นยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ได้ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีการสร้างโปรตีนที่ชื่อว่า PDL1 หรือย่อมาจาก Programmed death-ligand 1 มาป้องกันตัวเองจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามปกติ ยาในกลุ่มนี้ หรือมีชื่อว่า Anti-PD1 และ Anti-PDL1 จะไปยับยั้งกระบวนการป้องกันตัวเองดังกล่าวของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ โดยจะเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำทางสายน้ำเกลือเหมือนยาเคมีบำบัด

ประโยชน์ของยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ใช้รักษาในมะเร็งปอด ได้แก่

* ปัจจุบันยากลุ่มนี้ ใช้เป็นการรักษาในระยะที่โรคมีการแพร่กระจาย โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือร่วมกับยาเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถใช้ร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ส่วนในระยะอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัย

ผลข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลีย
  • ผื่นผิวหนัง
  • ปอดอักเสบ
  • ท้องเสียจากลำไส้อักเสบ
  • ผลข้างเคียงต่อระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ, ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ เป็นต้น

 

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์