การรักษามะเร็งด้วยการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
อาจารย์แพทย์หญิงณัฏยา ตียพันธ์
สาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยรบกวนการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด
ยามุ่งเป้า ทำงานอย่างไร?
ยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยเจาะจงกับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณที่มีผลต่อการแบ่งตัว การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือลดการสร้างเส้นเลือดมาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
มะเร็งชนิดใดที่สามารถรักษาด้วยยามุ่งเป้าได้?
ยากลุ่มนี้จะใช้ได้ผลดีเฉพาะในเนื้อเยื่อมะเร็งที่มี “เป้า” ที่จำเพาะต่อยาเท่านั้น ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของมะเร็ง จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยก่อนการใช้ยากลุ่มนี้ เพื่อเลือกใช้ยามุ่งเป้าให้เหมาะสมกับชนิดของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละราย หากตรวจไม่พบ “เป้า” ที่จำเพาะต่อยากลุ่มนี้ ก็จะไม่สามารถใช้ยามุ่งเป้าได้
รูปแบบของยามุ่งเป้า
มีทั้งแบบยาเม็ดใช้รับประทาน และยาฉีดให้ทางเส้นเลือด ซึ่งการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ อาจจะเป็นการรักษาด้วยยา กลุ่มนี้เพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการรักษาแบบอื่น เช่น ยาเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือรังสีรักษา เป็นต้น
ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้า มีอะไรบ้าง?
แม้ว่ายามุ่งเป้าจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ได้
ผลข้างเคียงจากยามุ่งเป้าที่พบบ่อย ได้แก่
- ผลข้างเคียงทางผิวหนัง ได้แก่ ผื่นผิวหนังคล้ายสิว, ผิวแห้ง, คัน, ขอบเล็บอักเสบ
- ท้องเสีย
- เยื่อบุปากอักเสบ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- การทำงานของตับผิดปกติ
- ความผิดปกติทางตา ได้แก่ เคืองตา ตาแห้ง ตาอักเสบ
- ความดันโลหิตสูง