มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
ความรู้ทั่วไป
มะเร็งต่อมลูกมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหรืออาจมีปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด
หลักการการรักษา
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้หลายวิธ๊ ทั้งการตรวจติดตาม การผ่าตัด การฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การให้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหรือยาเคมีบำบัดในโรคที่แพร่กระจาย ทั้งนี้วิธีการรักษาขึ้นกับระยะของโรค ค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ผลชิ้นเนื้อ
การฉายรังสี
การฉายรังสีเป็นการให้เอกซเรย์พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีในมะเร็งต่อมลูกหมากมีบทบาทหลักในกรณีดังต่อไปนี้
- การฉายรังสีบริเวณต่อมลูกหมาก (Definitive radiotherapy)
- การฉายรังสีหลังผ่าตัดในบริเวณต่อมลูกหมากเดิมในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง (Postoperative radiotherapy)
- การฉายรังสีเพื่อทุเลาอาการกรณีที่โรคมีการแพร่กระจาย (Palliative radiotherapy)
ขั้นตอนการฉายรังสีดังต่อไปนี้
- การเตรีมตัวก่อนจำลองฉายรังสี
- กรณีที่มีการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนการจำลองฉายรังสี
- กรณีที่แพทย์ให้กลั้นปัสสาวะ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการปัสสาวะก่อนมาจำลองฉายรังสีประมาณ 3-4 ชั่วโมง ข้อดีของการกลั้นปัสสาวะคือกระเพาะปัสสาวะที่โป่งออกจะดันลำไส้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณที่ฉายรังสี ช่วยลดผลข้างเคียงลดลง
- กรณีที่ฉายบริเวณต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลม ทานยาระบายและถ่ายอุจจาระก่อนมาจำลองฉายรังสี
- การจำลองการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าทางเสมือนวันฉายรังสีจริง หลังจากนั้นจะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์จะกำหนดจุดในการฉายรังสี และขีดเส้นบนตัวผู้ป่วย ซึ่งเส้นดังกล่าวใช้เพื่อเทียบตำแหน่งกับวันฉายจริง ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยต้องดูและไม่ให้เส้นเลือนหายไปก่อนวันเริ่มฉายรังสี ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อนำภาพดังกล่าวมาใช้วางแผนการรักษาร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นแพทย์จะนำภาพทั้งหมดไปใช้ในการวาดตำแหน่งของก้อนและอวัยวะข้างเคียง หลังจากนั้นนักฟิสิกส์จะคำนวณปริมาณรังสีโดยใช้เทคนิคแบบปรับความเข้ม (IMRT/VMAT) เพื่อให้ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีตามต้องการ และหลีกเลี่ยงรังสีไม่ให้โดนอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ
- การฉายรังสี จำนวนครั้งของการฉายรังสีขึ้นกับสภาพร่ายกายผู้ป่วยและระยะของโรค โดยทั่วไปจะฉาย 35-44 ครั้ง โดยฉาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 15 นาที โดยก่อนฉายรังสีทุกครั้งจะมีการเช็คตำแหน่งของก้อนในห้องฉาย (IGRT) เพื่อให้มั่นใจว่าฉายได้ตรงตำแหน่งที่ต้องการ แต่อาจลดลงเหลือ 1-10 ครั้งในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายหลายจุด หรือผู้ป่วยติดเตียง
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี หรือการรักษาอื่นร่วมด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยหรือแสบขัด ท้องเสีย อ่อนเพลีย ในระยะยาวอาจปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด สมรรถภาพทางเพศลดลง
การตรวจติดตามระหว่างฉายรังสี
ระหว่างฉายรังสีจะมีการตรวจสัปดาห์ละครั้งเพื่อประเมินตำแหน่งของการฉายรังสีและประเมินผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
การดูแลตนเองระหว่างฉายรังสี
ระหว่างฉายรังสี ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลม เช่น ถั่ว น้ำอัดลม ผักสด เป็นต้น พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ต้องกลั้นปัสสาวะก่อนฉายรังสีควรดื่มน้ำให้ระหว่างฉายรังสีรู้สึกปวดปัสสาวะใกล้เคียงกับวันจำลองฉายรังสีให้มากที่สุด และควรทานยาระบายและถ่ายก่อนมาฉายรังสีทุกวันเพื่อไม่ให้ลำไส้โดนรังสีโดยไม่จำเป็น