โรคมะเร็ง

ความรู้ทั่วไป : ยาเคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่า “คีโม”  เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัวและตายไปในที่สุด

ข้อบ่งชี้ในการให้ยาเคมีบำบัด

  1. การให้ยาเคมีบำบัดเสริมภายหลังการผ่าตัด (Adjuvant chemotherapy)หมายถึง การให้ยาเคมีบำบัดหลังจากผู้ป่วยผ่าตัดก้อนมะเร็งออกหมด ในมะเร็งระยะต้นบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น พบว่าการให้ยาเคมีบำบัดเสริมสามารถเพิ่มโอกาสการหายขาดและลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง
  2. การให้ยาเคมีบำบัดเสริมก่อนการผ่าตัด  (Neoadjuvant chemotherapy) หมายถึง การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดในมะเร็งที่มีการลุกลามเฉพาะที่ซึ่งศัลยแพทย์ประเมินว่ายังไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด การให้ยาเคมีบำบัดในกรณีนี้หวังผลให้ก้อนมะเร็งยุบลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดออกได้หมด
  3. การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง (Concurrent chemoradiation) หมายถึง การให้ยาเคมีบำบัดพร้อมกับการฉายแสง กล่าวคือยาเคมีบำบัดจะไปเสริมฤทธิ์ของการฉายแสงในการทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่าได้ประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่าการฉายแสงเพียงอย่างเดียวในมะเร็งที่มีการลุกลามเฉพาะที่หลายชนิด เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งปอด เป็นต้น
  4. การให้ยาเคมีบำบัดแบบประคับประครอง (Palliative chemotherapy) หมายถึง การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น โดยวัตถุประสงค์ในการให้ยาเคมีบำบัดแบบประคับประครองคือ หวังควบคุมตัวโรคมะเร็งไม่ให้ลุกลามมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น บรรเทาอาการและความรุนแรงจากตัวโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย

การเตรียมตัวก่อนรับยาเคมีบำบัด

  1. ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแพทย์มีความจำเป็นต้องประเมินความพร้อมของผู้ป่วย และต้องตรวจเลือดเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของตับและไต เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลกดการทำงานของไขกระดูกซึ่งทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำได้ และยาเคมีบำบัดบางชนิดต้องมีการปรับขนาดยาตามการทำงานของตับและไต
  2. ผู้ป่วยควรเข้าใจถึงข้อบ่งชี้ในการให้ยาเคมีบำบัด วิธีการการให้ยาและความถี่ ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น และการดูแลตนเอง ซึ่งแพทย์จะอธิบายและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยก่อนเริ่มการรักษา
  3. รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ขาว นม เป็นต้น เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารหลักในการซ่อมแซมเซลล์ปกติในร่างกายที่ถูกทำลายเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารมื้อหลักได้อย่างเพียงพอแนะนำให้รับประทานนมทางการแพทย์เสริม
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ และการรับประทานสมุนไพร เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและไต และยังอาจมีปฏิกิริยาส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดลดลง
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

เนื่องจากยาเคมีบำบัดอาจมีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เส้นผม เยื่อบุผิว และเม็ดเลือด ทำให้อาจเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ผมร่วง เยื่อบุช่องปากอักเสบ และเม็ดเลือดต่ำกว่าปกติ เป็นต้น แต่ผลข้างเคียงดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อยาเคมีบำบัดหมดฤทธิ์อาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นและกลับสู่ภาวะปกติ อีกทั้งผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละบุคคลอาจมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยก่อนเริ่มการรักษา สูตรยาเคมีบำบัดที่ได้รับซึ่งมีความแตกต่างกันตามระยะและชนิดของโรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีมากขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลงกว่ายาเคมีบำบัดกลุ่มเดิม รวมทั้งยังมียาที่ช่วยป้องกันและรักษาอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวเพื่อป้องกันภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้การใช้ยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลง


เรียบเรียงโดย: อ.พญ.นุสรา ภาคย์วิศาล

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์