ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

บทบาทของการฉายรังสีรักษาโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง

การใช้รังสีเพื่อรักษาโรคเริ่มใช้อย่างกว้างขวางภายหลังการค้นพบรังสีเอ็กซเรย์เมื่อปี ค.ศ.1895 โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ส่วนโรคที่ไม่ใช่มะเร็งมีรายงานการใช้ครั้งแรกโดย ศาสตราจารย์ฟรอยด์เพื่อรักษาไฝที่ผิวหนังหลังจากนั้นก็มีการศึกษาเกี่ยวกับการ ใช้รังสีรักษาโรคที่ไม่ใช่มะเร็งตามมาอีกหลายโรคด้วยกัน

บทบาทรังสีรักษาในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น การฉายรังสีปริมาณน้อยๆ ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกเพื่อป้องกันภาวะกระดูกงอกผิดปกติ (Heterotopic ossification : HO) , รักษาภาวะตาโปนในผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ, ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของแผลเป็นนูน (Keloid), การวางแร่กัมมันตรังสีเพื่อรักษาต้อเนื้อ และการใช้รังสีปริมาณสูงเพียงครั้งเดียว (stereotactic radiosurgery) เพื่อรักษาภาวะกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติ (Arteriovenous malformations)

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันในแต่ละโรคและผู้ป่วยแต่ละคนโดยขึ้นอยู่กับ อวัยวะที่ได้รับรังสีซึ่งทนต่อปริมาณรังสีได้ไม่เท่ากัน, ปริมาตรของอวัยวะที่โดนรังสี, ปริมาณรังสี และปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละคน แต่มักไม่พบในผู้ป่วยที่ใช้การฉายรังสีรักษาโรคที่ไม่ใช่โรคมะเร็งเนื่องจากใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่ามาก

บทบาทของรังสีรักษาในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง

1. ภาวะกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติ (Arteriovenous malformations)

ภาวะกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติในสมองเป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิดที่มีการสร้างกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติเชื่อมเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำโดยไม่ผ่านระบบเส้นเลือดฝอย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกประมาณ 2-3% ต่อปีและมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10% ในครั้งแรกที่มีภาวะเลือดออกและสูงขึ้นในครั้งต่อๆ มา

ทางเลือกในการรักษาภาวะกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติมีหลายวิธี ดังนี้ การสังเกตุอาการและตรวจติดตามเป็นระยะ, การผ่าตัด, การอุดหลอดเลือด (endovascular embolization) หรือการใช้รังสีปริมาณสูงเพียงครั้งเดียว (stereotactic radiosurgery)

การเลือกใช้รังสีปริมาณสูงเพียงครั้งเดียว (stereotactic radiosurgery) ขึ้นอยู่กับอายุ, ประวัติภาวะเลือดออกในสมอง, โรคประจำตัวของผู้ป่วย, ตำแหน่งของกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติ และขนาดต้องไม่เกิน 3 เซนติเมตร หลังจากการฉายรังสีกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติจะค่อยๆ ตีบและตันในที่สุดซึ่งใช้เวลา 3 ปีหลังจากฉายรังสี ระหว่างนี้ผู้ป่วยก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกได้ ความสำเร็จในการรักษาอยู่ที่ 60-90% และอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างต่ำเนื่องจากฉายรังสีในปริมาณน้อย

2. แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid)

แผลเป็นคีลอยด์ คือ ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการซ่อมแซมภายหลังจากผิวหนังได้รับบาดเจ็บโดยการสร้างคอลลาเจน และเส้นเลือดฝอยมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดตามหลังการผ่าตัด, แผลไฟไหม้, อุบัติเหตุ, การอักเสบ, ปฏิกิริยาจากสิ่งแปลกปลอม, ภาวะฮอร์โมนต์ที่ผิดปกติ หรืออาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุได้ ทำให้เกิดแผลเป็นนูนและอาจจะรู้สึกคันหรือเจ็บได้ในผู้ป่วยบางราย แต่โดยทั่วไปจะไม่รู้สึกเจ็บปวด

การรักษาแผลเป็นคีลอยด์มีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด, การฉายรังสี, การรัดแผลเป็นคีลอยด์, การประคบด้วยไฮโดรเจนเหลว,การฉีดยาเสตียรอยด์เฉพาะจุด, การฉีดยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon), การให้ยาเคมีบำบัด, การทาซิลิโคน หรือ การยิงเลเซอร์ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ คือ ขนาด, ตำแหน่ง, ความลึกของแผลเป็นคีลอยด์, อายุของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษาที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีวิธีที่เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก

การฉายรังสีภายหลังการรักษาด้วยการผ่าตัดช่วยให้มีความสำเร็จในการรักษาประมาณ 75-90% และสามารถลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำเหลือ 12.5-32% ภายใน 2 ปีหลังการรักษา ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดีที่สุด ส่วนผลข้างเคียงจากการรักษา คือ ผิวหนังสีคล้ำขึ้น, คัน และเป็นผื่นแดงได้ ผู้ป่วยที่มีแผลเป็นคีลอยด์อยู่แล้วไม่สามารถฉายรังสีให้ยุบไปได้ แต่จะต้องทำการผ่าตัดแผลเป็นออกก่อนแล้วรับการฉายรังสีภายใน 1 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดคีลอยด์ได้สูงสุด โดยปกติจะฉายรังสีประมาณ 3 ครั้ง (ครั้งละ 2 นาที) ใน 3 วัน

3. การรักษาภาวะตาโปนในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Graves’ ophthalmopathy)

ภาวะตาโปนในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเนื่อเยื่อรอบๆ ลูกตา โดยมักพบในผู้หญิงวัยกลางคนถึงสูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงแต่ก็สามารถพบในผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือปกติได้ ภาวะนี้อาจรุนแรงทำให้เกิดการทำลายของกล้ามเนื้อรอบลูกตาหรือกดทับเส้นประสาทการมองเห็นได้

การรักษาภาวะนี้ทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น ยา, การผ่าตัดเพื่อลดการกดทับเส้นประสาทการมองเห็น, การฉายรังสี หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ในช่วงแรกรักษาโดยใช้เสตียร์รอยด์ขนาดสูงเพื่อลดอาการบวมซึ่งให้ผลเป็นที่น่าพอใจประมาณ 60% ของผู้ป่วย การผ่าตัดเป็นวิธีที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตาโปนหรือการมองเห็นแย่ลงอย่างรุนแรง และเมื่อเกิดภาวะตาโปนที่รุนแรงควรมีการควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือการกลืนน้ำแร่ไอโอดีนรังสี (I-131 treatment) ควบคู่ไปกับการรักษาภาวะตาโปนด้วย

การฉายรังสีพิจารณาให้ในกรณีที่การรักษาโดยยาเสตียร์รอยด์ไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยมีข้อห้ามในการให้ยาเสตียร์รอยด์ หรือให้พร้อมกับยาเสตียร์รอยด์ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก การฉายรังสีจะเห็นผลการรักษาภายหลังจากฉายรังสีประมาณ2-3 สัปดาห์และในระหว่างที่ฉายรังสีอาจพบอาการอักเสบมากขึ้นได้ดังนั้นระหว่างการฉายรังสีจึงควรให้ยาเสตียร์รอยด์ร่วมด้วย โดยปกติจะฉายรังสีประมาณ 10 ครั้งใน 2 สัปดาห์

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีที่อาจพบ ได้แก่ ต้อกระจก, จอประสาทตาเสื่อมจากการฉายรังสี (radiation retinopathy) และเส้นประสาทตาเสื่อมจากการฉายรังสี (radiation optic neuropathy) มักจะเกิดในช่วง 6 เดือนถึง 3 ปีภายหลังจากการฉายรังสีเนื่องจากปริมาณรังสีน้อยมาก โอกาสเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวจึงน้อยมากเช่นกัน

4. Orbital pseudotumor

Orbital pseudotumorเป็นภาวะที่เกิดการอักเสบบวมของเนื้อเยื่อบริเวณรอบดวงตา ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ เจ็บ,บวม, ตาโปน, ไม่สามารถกลอกตาได้ตามปกติ, มองเห็นภาพซ้อน หรือคลำพบก้อนบริเวณดวงตา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่มะเร็งและสามารถหายได้เองแต่เนื่องจากก้อนที่มีขนาดโตมากอาจไปกดทับเส้นประสาทตาจนทำให้การมองเห็นแย่ลงได้ รอยโรคนี้อาจจะเป็นที่ตาข้างเดียวหรือตาทั้งสองข้างก็ได้ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้และไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อัตราการเกิดโรคไม่ขึ้นกับเพศ อายุหรือเชื้อชาติซึ่งการวินิจฉัยโรคนั้นมีความจำเป็นจะต้องแยกจากโรคมะเร็งและภาวะอักเสบติดเชื้ออื่นๆ

การรักษาโรค Orbital pseudotumor ใช้ยาเสตียร์รอยด์เป็นหลักซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วันภายหลังการรักษาและการรักษาด้วยยาเสตียร์รอยด์เพียงอย่างเดียวมีโอกาสหาย 50% การผ่าตัดรักษาเป็นวิธีการที่มักเลือกใช้เป็นวิธีการสุดท้ายในผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำ ส่วนการฉายรังสีปริมาณต่ำเป็นการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการให้เสตียร์รอยด์ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเสตียร์รอยด์ หรือกลับมาเป็นซ้ำ และอาจพิจารณาให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยบางราย

5. ภาวะเสื่อมของจอประสาทตา (Macular degeneration)

ภาวะเสื่อมของจอประสาทตาถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นไม่ชัด หรือเห็นจุดสีดำบริเวณตรงกลางภาพ มักจะพบในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วย 30 ล้านคน ทั่วโลกตาบอดและสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ ชัดเจนภาวะเสื่อมของจอประสาทตาไม่สามารถ รักษาให้หายเหมือนปกติได้แต่สามารถชลอหรือ หยุดการเสื่อมของจอประสาทตาโดยการยิงเลเซอร์ การผ่าตัด, ยากลุ่ม Targeted therapy และการฉายรังสี

 

Macular degeneration

6. ต้อเนื้อ (Pterygium)

ต้อเนื้อเป็นโรคที่พบได้บ่อยบริเวณหัวตาซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเยื่อบุบริเวณหัวตาแล้วขยายออกไปบนกระจกตาด้านนอกซึ่งอาจจะทำให้บังลานสายตาได้หากปล่อยให้เป็นนานๆ มักเกิดกับผู้ที่ต้องออกแดดบ่อยๆ และสามารถลดอัตราการเกิดได้โดยการใส่แว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง

การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นการรักษาหลักและได้ผลดี แต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ประมาณ 20-67% หากพิจารณารักษาโดยการวางแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy) ภายหลังการผ่าตัดจะสามารถลดอัตราการกลับเป็นซ้ำเหลือน้อยกว่า 20% และเริ่มมีการใช้การวางแร่กัมมันตรังสีเป็นการรักษาหลักเพียงอย่างเดียวก็สามารถลดขนาดต้อเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีพบได้ประมาณ 4-5% ได้แก่ การระคายเคืองเยื่อบุตา และภาวะฝ่อของเยื่อบุลูกตาในระยะเฉียบพลัน และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการรักษาในระยะยาว

7. ภาวะเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia)

ภาวะเต้านมโตในผู้ชายเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเนื่อเยื่อเต้านมซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ คืออัตราส่วนของระดับฮอร์โมนเพศหญิงต่อฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น มักพบในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนเพศชายซึ่งผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยภาวะเต้านมโตทั้งสองข้างร่วมกับอาการเจ็บ การฉายรังสีปริมาณน้อยๆ จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการผ่าตัด และการรักษาโดยฮอร์โมน ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีอาจพบผื่นแดงได้เล็กน้อยเนื่องจากเป็นการฉายรังสีปริมาณน้อย

8. การใช้รังสีรักษาระยะใกล้ในหลอดเลือด (Endovascular Brachytherapy)

ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาภาวะหลอดเลือดตีบโดยการใส่ขดลวดถ่างหลอดเลือดนั้นมีโอกาสที่เนื้อเยื่อรอบๆ หลอดเลือดแบ่งตัวเพิ่มทำให้เกิดการตีบซ้ำได้ประมาณ 20-40% จากงานวิจัยพบว่าการฉายรังสีสามารถลดอัตราการตีบซ้ำได้ถึง 4 เท่า แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีวิวัฒนาการของยาป้องกันการตีบของเส้นเลือดที่ได้ผลดียิ่งขึ้น ทำให้บทบาทของการฉายรังสีลดลง

9. Histiocytosis

Langerhans’ cell histiocytosis (LCH) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวแบ่งตัวผิดปกติและลุกลามเข้าไปในอวัยวะอื่นเช่น กระดูก, ต่อมใต้สมอง และปอด การดำเนินโรคของ LCH นั้นมีหลากหลายผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัดทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคประมาณ 70 – 90% แต่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือไม่สามารถผ่าตัดได้หมด หรือมีรอยโรคหลายตำแหน่ง หรือรอยโรคอยู่ในกระดูก ก็มีข้อบ่งชี้สำหรับการฉายรังสีปริมาณน้อยซึ่งการฉายรังสีจะได้ผลดีหากเริ่มฉายภายใน 1 สัปดาห์หลังจากมีอาการจะสามารถควบคุมโรคได้ประมาณ 80 – 90%

10. ภาวะกระดูกงอกผิดปกติ (Heterotopic ossification : HO)

ภาวะกระดูกงอกผิดปกติเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดหลังจากที่ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม หรือข้อสะโพกได้รับบาดเจ็บหรือระบบประสาทส่วนกลางได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมีสาเหตุจากเซลล์ต้นกำเนิดของร่างกาย (Primitive mesenchymal) เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำให้เนื่อเยื่อรอบๆ ข้อสะโพกเปลี่ยนเป็นกระดูก อุบัติการณ์ของโรคนี้พบได้ประมาณ 43 % ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนข้อสะโพก และจะสูงถึง 80% ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นภาวะกระดูกงอกผิดปกติ

อาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือข้อสะโพกติด หรือมีอาการปวดร่วมด้วยได้ อาจพบอาการอักเสบรุนแรงรอบๆ ข้อได้ การวินิจฉัยโรคทำได้จากการเอกซเรย์ และการสแกนกระดูก (Bone scan)

การรักษาภาวะกระดูกงอกผิดปกติ ทำได้โดยการผ่าตัดแต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำ ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงสูงควรได้รับการป้องกันโดยการกินยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ได้แก่ ยาอินโดเมททาซิน (Indomethacin) และการฉายรังสีภายใน 24 – 48ชั่วโมง หรือไม่เกิน 5 วันหลังจากการผ่าตัด ซึ่งลดโอกาสของการเกิดภาวะกระดูกงอกผิดปกติเหลือน้อยกว่า 10% ในปัจจุบันพบว่าการฉายรังสีเพื่อป้องกันก่อนการผ่าตัดให้ผลเท่ากับการฉายรังสีหลังการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงหลังการฉายรังสี การฉายรังสีมีข้อควรระวังในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติข้อสะโพกเคลื่อนร่วมกับหัวกระดูกต้นขาหัก (Posterior hip dislocation with femoral head fracture)เนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะกระดูกตายจากการขาดเลือด (Avascular necrosis : AVN)

11. โรคไพโรนี (Peyronie’s disease)

โรคไพโรนีตั้งชื่อตามกษัตริย์ฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยผู้ป่วยจะมีอวัยวะเพศโค้งงอมากขณะแข็งตัวซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากประวัติการได้รับบาดเจ็บ หรือการอักเสบรุนแรงบริเวณองคชาติ ซึ่งพบได้ประมาณ 3% ในผู้ชายอายุระหว่าง 40 – 60 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเวลาอวัยวะเพศแข็งตัว, อวัยวะเพศโค้งงอผิดรูป, ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หรืออวัยวะเพศไม่แข็งตัวซึ่งพบได้ถึง 40% ในผู้ป่วยโรคไพโรนี

การรักษาโดยการตรวจติดตามเป็นระยะก็เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการปวดและอวัยวะเพศไม่ผิดรูปมากเกินไป ซึ่งพบว่าผู้ป่วยประมาณ 40% มีอาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป, อีก 40% อาการดีขึ้น และ 13% โรคจะหายได้เอง ในผู้ป่วยที่อาการไม่มากจะใช้วิธีรักษาตามอาการโดยการให้ยาแก้ปวด, ผู้ป่วยที่อวัยวะเพศโค้งงอจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้นั้นก็ควรได้รับการผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัวก็เป็นข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดเสริมองคชาติ การฉายรังสีสามารถช่วยลดความเจ็บปวด และการดึงรั้งขององคชาติได้ โดยต้องใช้ความระมัดระวังในการฉายรังสีเพื่อป้องกันไม่ใช้อัณฑะได้รับปริมาณรังสีมากเกินไป

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์