ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง

อาการคลื่นไส้อาเจียนกับการรักษาโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นโรคที่สำคัญ การรักษาต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีวิทยาการรักษาที่พัฒนาไปมากทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฝังแร่และการฉายแสง แต่กมีอาการข้างเคียงจากการรักษาที่พบได้บ่อยคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งพบประมาณ 50% ของผู้เข้ารับการรักษาทั้งหมด จึงจัดเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากอาการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เกิดภาวะขาดสารอาหารและเกลือแร่ และมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการรักษาจนอาจมีผลต่อการรักษาได้

การคลื่นไส้และอาเจียน มีความหมายที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

  • "คลื่นไส้" หมายถึง อาการดังต่อไปนี้ รู้สึกไม่สบายท้อง มีน้ำลายมาก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด กลืนอาหารลำบาก อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงและชีพจรเต้นเร็วขึ้น
  • "อาเจียน" หมายถึง การหดรัดตัวของกระเพาะอาหารซึ่งจะบีบเอาอาหารและน้ำย่อยในกระเพาะให้ไหลย้อนขึ้นมาที่ปาก หรืออาจจะไม่มีอาหารออกมาก็ได้ ซึ่งจะมีอาการคลื่นไส้หรือไม่ก็ได้

สาเหตุของการเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน

  • การให้ยาเคมีบำบัดรักษา
  • การฉายรังสี (การฉายแสง)
  • โรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น ยา การติดเชื้อ โรค หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ

การได้ยาเคมีบำบัดกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่ออาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย คือ

  • ชนิดของยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับ
  • ขนาดของยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะคลื่นไส้อาเจียนได้มาก
  • ความถี่ในการให้ยาเคมีบำบัด หากถี่มากก็จะทำให้ระยะเวลาระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบน้อย ผู้ป่วยก็จะมีเวลาฟื้นตัวจากอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อนจะได้รับยาเคมีบำบัดในรอบต่อไปสั้นลงด้วย
  • วิธีการให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาโดยวิธีการฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เร็วกว่าการรับประทาน เนื่องจากตัวยาถูกดูดซึมได้เร็วกว่า
  • ประวัติการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่เคยได้รับยาเคมีบำบัดและมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก โอกาสที่จะมีอาการในครั้งต่อไปจะมีมากขึ้น
  • ปัจจัยอื่นๆ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจเกิดผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดที่แตกต่างกันได้ เช่น
    1. เพศและอายุ ผู้หญิงและอายุน้อยจะมีโอกาสเลี่ยงมากกว่า
    2. ดื่มแอลกอฮอล์มาก อาจมีความเสี่ยงในการมีอาการได้น้อยกว่า

อาการคลื่นไส้อาเจียนชนิดต่างๆ ที่พบจากการให้ยาเคมีบำบัดมีหลายแบบ ดังนี้

  1. อาการคลื่นไส้อาเจียนเฉียบพลัน หมายถึง เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียนภายใน 24 ชั่วโมง หลังได้รับยาเคมีบำบัด โดยมากจะมีอาการภายในไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมงหลังได้รับยาเคมีบำบัด และส่วนใหญ่จะมีอาการแย่ที่สุดในช่วง 5-6 ชั่วโมงหลังได้รับยา
  2. อาการคลื่นไส้อาเจียนที่ไม่ได้เกิดโดยทันที เริ่มมีอาการหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดเกิน 24 ชั่วโมง และอาจมีอาการต่อไปอีก 6-7 วัน เช่น ยาในกลุ่ม platinum-based, anthracyclines, cyclophosphamide
  3. อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้า เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดในผู้ป่วยที่เคยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาการไม่พึงประสงค์จากการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมักมีอาการก่อนการให้ยาในรอบต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยคาดการณ์ว่าจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดิมเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด
  4. อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นระหว่างการได้ยาป้องกันการอาเจียน คือ อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นแม้ผู้ป่วยจะได้รับยาเพื่อป้องกันแล้ว
  5. อาการคลื่นไส้อาเจียนที่ไม่ตอบสนองต่อยา ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แม้ว่าจะได้รับยาเพื่อป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เหมาะสมแล้ว

กลไกของการเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน

  1. กลไกที่ 1 เมื่อยาเคมีบำบัดถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ผ่านไปที่ส่วนต้นของลำไส้เล็ก ยาเคมีบำบัดจะไปกระตุ้นเซลล์ในลำไส้เล็กให้สร้างสารสื่อประสาท เช่น 5-HT (5-hydroxytrptamine) ซึ่งสารนี้จะไปจับกับตัวรับสารสื่อประสาทที่ผนังของลำไส้ แล้วส่งกระแสประสาทไปยังสมอง (Nucleus Tractus Solitaries เป็นส่วนใหญ่และบางส่วนไปที่ Area Postrema) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปกระตุ้นให้มีอาการอาเจียนแบบฉับพลัน
    - สารสื่อประสาทที่สำคัญ เช่น 5-HT, Dopamine, Substance P ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการคิดค้นยาเพื่อการป้องกันและรักษาอาการอาเจียนจากยาเคมีบำบัด
  2. กลไกที่ 2 ยาเคมีบำบัดจะไปกระตุ้นที่ระบบประสาทส่วนกลาง โดยตรงที่บริเวณ Amygdala
  3. กลไกที่ 3 ตัวยาในกลุ่มมอร์ฟีนจะผ่านเข้าไปทางกระแสเลือดหรือน้ำไขสันหลัง เข้าไปยังสมองบริเวณ Area Postrema และกระตุ้นให้เกิดอาการอาเจียนได้

ในปัจจุบันมีการแบ่งยาเคมีบำบัดชนิดต่างๆ ตามร้อยละของการเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด เมื่อไม่ได้ใช้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็น 5 ระดับด้วยกัน ดังตารางต่อไปนี้

 

ระดับ
ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
ยาเคมีบำบัด
 
5
(สูง)
>90%
Carmustin-high dose
Cisplatin-moderate to high dose
Cyclophosphamide-high dose
Dacarbazine
Mechlorethamine
Streptozocin
4
(ปานกลาง)
60-90%
Amifostine-high dose
Busulfan-high dose
Carboplatin
Carmustine
Cisplatin
Cyclophosphamide-moderate dose
Cytarabine-high dose
Dactinomycin
Doxorubicin-high dose
Epirubicin-high dose
Melphalan-high dose
Methotrexate-high dose
3
(ปานกลาง)
30-60%
Arsenic trioxide
Asparaginase
Cyclophosphamide
Cyclophosphamide (by mouth)
Doxorubicin
Epirubicin
Hexamethlymelanine (by mouth)
Darubicin
Ifosfamide
Irinotecan
Methotrexate-moderate 
to high dose
Mitoxantrone
Oxaliplatin
3
(ต่ำ)
10-30%
Bexarotene
Capecitabine
Cytarabine
Docetaxel
Doxorubicin (Liposomal)
Etoposide
5-Fluorouracil
Gemcitabine
Methotrexate-moderate dose
Mitomycin
Paclitaxel
Temozolamide
Topotecan
1
(ต่ำที่สุด)
<10%
Alemtuzumab
Asparaginase
Alpha Interferon
Bleomycin
Busulfan
Chlorambucil (by mouth)
Cladribine
Dexazoxane
Denileukin deftitox
Fludarabine
Gemtuzumab
Imatinib
Hydroxyurea
Melphalan
Methotrexate
Pentostatin
Rituximab
Thioguanine (by mouth)
Trastuzumab
Valrubicin
Vinblastin
Vincristine
Vinorelbine

 

การฉายแสงกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

การฉายแสงสามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เช่นเดียวกับการให้ยาเคมีบำบัด โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำการฉายแสง ปริมาณรังสีที่ฉายและความถี่ของการฉายแสง ตำแหน่งของการฉายแสงที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มาก คือ บริเวณท้อง ซึ่งทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณท้อง การได้รับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดจะเพิ่มโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มากยิ่งขึ้น และการฉายแสงที่มีปริมาณรังสีมากในครั้งเดียวจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มากกวาการแบ่งฉายหลายๆ ครั้ง


การฉายแสงในบริเวณต่างๆ ของร่างกายจะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ดังนี้

 

บริเวณที่ได้รับการฉายแสง
ผลข้างเคียง
สมอง, กระดูกสันหลัง คลื่นไส้อาเจียน
ลิ้น, กล่องเสียง, ต่อมทอนซิล, ต่อมน้ำลาย, โพรงจมูก, คอหอย เจ็บปาก, กลืนลำบาก/เจ็บ, ไม่รู้รสชาดอาหาร, เจ็บคอ, ปากแห้ง,
น้ำลายเหนียว
ปอด, หลอดอาหาร, เต้านม กลืนลำบาก, แสบร้อนบริเวณหน้าอก
ลำไส้เล็ก/ใหญ่, ต่อมลูกหมาก, ปากมดลูก ไม่อยากอาหาร, คลื่นไส้อาเจียน
มดลูก, ไส้ตรง, ตับอ่อน ท้องเสีย, ท้องอืด

 

การรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน

ในปัจจุบันมียารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลายชนิดด้วยกัน แต่ก็ไม่มียาตัวใดที่สามารถควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ 100% เนื่องจากยาเคมีบำบัด แต่ละชนิดมีกลไกที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่แตกต่างกัน และผู้ป่วยแต่ละคนก็ตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน โดยมีหลักการเลือกยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนี้

  • ยาเคมีบำบัดชนิดนั้นๆ กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงมากน้อยเพียงไร
  • ยาเคมีบำบัดชนิดนั้น มีโอกาสทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนมากหรือน้อย
  • ประวัติการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วย และยาที่ใช้ในการรักษาอาการดังกล่าว
  • ติดตามการตอบสนองต่อยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วย
  • ผลข้างเคียงของยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ใช้ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนขนาดน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้
  • ควรเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน

ในการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นควรเริ่มให้ยาป้องกันตั้งแต่ก่อนการให้ยาเคมีบำบัดต่อเนื่องไป จนกระทั่งเลยช่วงเวลาที่ยาเคมีบำบัดจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยการให้ยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน มีวิธีการให้ยาได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ เช่น ชนิดรับประทาน การฉีดเข้าหลอดเลือด การฉีดเข้ากล้าม การสอดเข้าทางทวารหนัก การอมใต้ลิ้น หรือแบบแผ่นแปะผิดหนัง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาทางปากได้

ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน

1) 5-HT3 Antagonists

  • ใช้ป้องกันการเกิดอาเจียนจากยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการปานกลางถึงมาก
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดศีรษะ มีค่าเอนไซม์ตับผิดปกติได้ชั่วคราว ท้องผูก
  • การใช้ปริมาณยาเพียงครั้งเดียวได้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับหลายครั้งในหนึ่งวัน
  • รูปแบบยาแบบรับประทานได้ผลเท่ากับยาฉีด
  • ได้ผลเล็กน้อยในการป้องกันอาการอาเจียนที่อาจเกิดภายหลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว จากยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการปานกลาง เช่น Platinum-based
  • Palonosetron เป็นตัวยาล่าสุด มีค่าชีวิตประมาณ 40 ชั่วโมง

2) Neurokinin-1 receptor Antagonists

  • เป็นตัวยากลุ่มใหม่ที่ได้ผลในการป้องกันอาการอาเจียนจากยาเคมีบำบัด
  • Aprepitant เป็นยากิน ใช้ได้ผลดีกับยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการมาก
  • Fosaprepitant เป็นยาฉีด ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น Aprepitant ในกระแสเลือดหลังฉีด 30 นาที
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น อ่อนเพลีย สะอึก จุกแสบ แน่นท้อง
  • ยาจะถูกเปลี่ยนที่ตับโดนผ่าน Cytochrome P-450 ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากต้องระมัดระวังการใช้ยาที่ต้องผ่านกระบวนการที่ตับแบบเดียวกับ เช่น ยาสเตียรอยด์, ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการต้องปรับยา เมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดอื่นๆ

3) ยาสเตียรอยด์

  • ใช้เป็นยาแก้อาการอาเจียนมามากกว่า 25 ปีแล้ว
  • สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้ดีกับยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการน้อย
  • ผลการรักษาจะดีมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาแก้อาเจียนประเภทอื่นๆ
  • ใช้ได้ดีกับอาการที่เกิดก่อนและภายหลัง 24 ชั่วโมง (Acute+Delayed emesis)
  • เมื่อใช้ร่วมกับยา Aprepitant ควรจะลดระดับของสเตียรอยด์ลงประมาณ 50%

4) ยาแก้คลื่นไส้อื่นๆ ที่ออกฤทธิ์ไม่แรง

  • ประสิทธิภาพต่ำ และอาจมีผลข้างเคียงได้มากกว่า
  • Phenothiazines ยากลุ่มเก่า ใช้ค่อนข้างกว้างขวาง
  • Metoclopremide ประสิทธิภาพเพิ่มตามปริมาณยาที่ได้รับ
  • Synthetic cannabinoids
  • Olanzapine
  • Benzodiazepines

การให้ยาเคมีบำบัดแบบฉีดวันเดียว หรือแบบฉีดหลายวัน ก็มีหลักการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนเหมือนกัน เพราะว่าการให้ยาเคมีบำบัดแบบหลายวันนั้นมักจะให้ยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการมาก ในวันแรกจะให้ยาป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างไรก็ขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ

ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยาเคมีบำบัดในรูปแบบการรับประทานมากขึ้น ซึ่งถึงแม้จะมีการจัดลำดับของความสามารถก่อให้เกิดการอาเจียนของยา แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการให้ยาแก้อาเจียน

ความเสี่ยงสูง

  • รายที่ได้รับยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการมาก เช่น Platinum-based
  • ให้ยารักษาชนิดที่ออกฤทธิ์แรง 3 กลุ่มแรกร่วมกัน โดยให้ก่อนยาเคมีบำบัด
  • ให้ยากลุ่มที่ 2 (Aprepitant) ต่อในวันที่ 2-3
  • ให้ยากลุ่มที่ 3 (ยาสเตียรอยด์) ต่อในวันที่ 2-4

ความเสี่ยงปานกลาง

  • รายที่ได้รับยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อให้เกิดอาการปานกลาง เช่น Anthracyclines และ Cyclophosphamide
  • ให้ยารักษาชนิดที่ออกฤทธิ์แรง 3 กลุ่มแรกร่วมกัน โดยให้ก่อนยาเคมีบำบัด
  • ให้ยากลุ่มที่ 2 (Aprepitant) ต่อในวันที่ 2-3
  • หรืออาจให้แค่กลุ่มที่ 1+3 ในวันแรกและกลุ่มที่ 1 หรือ 3 ในวันที่ 2-3

ความเสี่ยงต่ำ

  • ให้ยากลุ่มที่ 1 หรือ 3 ครั้งเดียวก่อนให้ยาเคมีบำบัด
  • ไม่มีข้อบ่งชี้ในการให้ยาเพื่อป้องกันอาการในวันที่ 2-4

ความเสี่ยงต่ำมาก

  • ไม่มีข้อบ่งชี้ในการให้ยาเพื่อป้องกันอาการอาเจียน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนโดยนักจิตบำบัด ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับการให้ยาได้อีกด้วย เช่น การสะกดจิต, การฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Progressive muscle relaxzation), การฝึกสมาธิในการควบคุมร่างกาย (Biofeedback), การฝึกจินตภาพ (Guided Imagery) และการสร้างความเคยชินกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (Systematic desensitization)

ภาวะโภชนาการของผู้ป่วย

ภาวะโภชนาการที่ดีมีความสำคัญกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งจะรับประทานอาหารได้น้อยอยู่แล้วจากตัวโรคที่เป็นอยู่และจากการรักษา ดังนั้นทีมผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยควรร่วมมือกันวางแผนเพื่อให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดีในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย ดังนี้

  • มีกำลังใจที่ดี
  • ร่างกายแข็งแรง และได้รับพลังงานเพียงพอ
  • น้ำหนักไม่ลด และมีสารอาหารสะสมในร่างกายเพียงพอ
  • ทำให้ร่างกายสามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษาได้ดีขึ้น
  • ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

คำแนะนำเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

  • เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเป็นผู้ป่วยนอก ดังนั้นจึงควรเตรียมอาหารและของว่างมาด้วย หากการให้ยาเคมีต้องใช้ระยะเวลาที่นาน บางโรงพยาบาลมีการอำนวยความสะดวกโดยมีตู้เย็น และเครื่องไมโครเวฟไว้ให้บริการ
  • ควรรับประทานอาหารว่างหรืออาหารเบาๆ ก่อนให้ยาเคมีบำบัด
  • การพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สามารถช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้เป็นอย่างดี
  • หากรู้สึกไม่อยากอาหารหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด ก็ไม่ควรฝืนรับประทานซึ่งแก้ไขได้ด้วยการรับประทานทีละน้อยบ่อยๆ หรือเลือกรับประทานอาหารที่ชอบในระหว่างการรักษา
  • ควรรับประทานอาหารตามปกติหากสามารถทำได้ ที่สำคัญคือ ไม่ควรฝืนรับประทานอาหารที่ไม่ชอบหรือเมื่อยงรู้สึกอิ่มอยู่
  • อย่าเกรงใจที่จะขอให้ญาติและเพื่อนๆ มีส่วนช่วยในการเลือกซื้อ และเตรียมอาหาร หรือหากอยู่คนเดียวก็อาจสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านหรือออกไปรับประทานอาหารกับเพื่อนบ้าน หรือชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราวเท่านั้น หากอาการไม่หายไป ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบเพื่อดำเนินการรักษาต่อไป

คำแนะนำเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง

  • ไม่ควรไปฉายแสงขณะท้องว่าง และรับประทานอาหารก่อนไปฉายแสงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • หากระยะทางไปฉายแสงไกลมากอาจต้องเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไปทานระหว่างทางด้วย
  • ควรให้ญาติหรือเพื่อนเตรียมอาหารที่ผู้ป่วยอยากกินในวันนั้นให้ เพราะอาหารที่รสชาดไม่ดี กลืนลำบาก หรืออาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • ตัวผู้ป่วยเองไม่ควรคิดไปก่อนว่าตนจะมีผลข้างเคียงจากการรักษาเหมือนผู้ป่วยคนอื่นๆ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนก็จะมีผลข้างเคียงจากการรักษาแตกต่างกันแม้ว่าจะได้รับการรักษาที่เหมือนกัน
  • การพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการให้กำลังใจกันในหมู่ผู้ป่วยด้วยกันเองจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น

การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน

  • ในผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาหาร เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรมีการปรับเปลี่ยนอาหารตามความเหมาะสม โดยปรึกษากับทีมแพทย์ผู้ให้การรักษา
  • ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ และบ่อยๆ แทนที่จะเป็นมื้อหลัก 3 มื้อตามปกติ
  • ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานสูง
  • สามารถรับประทานอาหารเสริมควบคู่ไปด้วย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากทีมผู้ให้การรักษา
  • ในแต่ละวันหากช่วงเวลาใดที่สามารถทานได้ ควรรับประทานให้เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่มื้อเช้าจะเป็นมื้อที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มาก
  • หากไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ ควรบอกแก่ทีมผู้ให้การรักษาหรือนักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
  • หากยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนไม่ได้ผล ควรแจ้งทีมผู้ให้การรักษาทราบเพื่อพิจารณาปรับยาให้เหมาะสม
  • ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น น้ำซุป โจ๊ก
  • ไม่ควรฝืนรับประทานหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ไม่ควรรับประทานอาหารที่ร้อนจัด
  • ควรหาคนช่วยเตรียมอาหารแทน หากคุณมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ควรทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังอาเจียน
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • หลีกเลี่ยง เสียง ภาพ กลิ่น ที่อาจทให้คลื่นไส้ได้
  • แจ้งแพทย์หรือพยาบาลหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก และไม่สามารถควบคุมได้

หากตัวผู้ป่วยเอง ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในภาวะดังกล่าวและสามารถช่วยดูแลอาการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วยให้บรรเทาลง ก็ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยที่ภาวะโภชนาการที่ดี มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคต่อไป

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์