ผลข้างเคียงของการฉายรังสีเยอะจริงหรือ?
ผลข้างเคียงของการฉายรังสีไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย โดยทั่วไปแพทย์รังสีรักษาแบ่งผลข้างเคียงตามเวลาที่เกิด ผลข้างเคียงที่
เกิดขณะฉายรังสีถึงหลังครบฉายรังสี 6 เดือน เรียกว่า ผลข้างเคียงแบบเฉียบพลัน ซึ่งผลข้างเคียงนี้ขึ้นอยู่กับ
1. ปริมาณรังสีที่ฉายต่อวัน หากปริมาณรังสีต่อวันมากก็จะมีผลข้างเคียงมาก
2. เทคนิคการฉายรังสี การฉายรังสีบางเทคนิค เช่น การฉายรังสีบริเวณผนังทรวงอก แพทย์รังสีรักษาต้องการให้ผิวหนังได้รับรังสี
มากเป็นพิเศษก็จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นคล้ำขึ้น เป็นต้น
3. ตำแหน่งหรือบริเวณที่ฉายรังสี เช่น ฉายรังสีบริเวณช่องอก อาจมีอาการ ไอ เจ็บคอเวลากลืนอาหาร หากฉายบริเวณช่องท้อง
อาจทำให้คลื่นไส้ และอาเจียน หากฉายบริเวณศีรษะ อาจทำให้ผมร่วง เป็นต้น
4. ปริมาณรังสีรวม กล่าวคือ ยิ่งฉายปริมาณรังสีมากเช่น เกิน 5 สัปดาห์ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ผลข้างเคียงแบบ
เฉียบพลันนี้มักจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 2-3 เดือนหลังฉายรังสี ซึ่งแพทย์รังสีรักษาจะให้การรักษาแบบประคับประคองต่อผลข้างเคียง
ดังกล่าว ในผู้ป่วยบางรายที่มีผิวหนังคล้ำหรือแสบเหมือนโดนแดดเผาหรือน้ำร้อนลวก ให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือเช็ดแผล เช้า-เย็น
จนแผลหาย
ผลข้างเคียงแบบที่สอง คือ ผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งแพทย์รังสีรักษาไม่ต้องการให้เกิดและพยายามใช้เทคนิคการฉายรังสีแบบ
เฉพาะจุด เช่น การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม เป็นต้น ผลข้างเคียงระยะยาวขึ้นกับปริมาณรังสีรวมที่ผู้ป่วยได้รับและเทคนิคการฉายรังสี
โดยหากจำเป็นที่จะต้องให้รังสีปริมาณสูง แพทย์รังสีรักษาจะต้องให้ข้อมูลผู้ป่วยและเลือกเทคนิคที่จะเลี่ยงอวัยวะปกติให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่างของผลข้างเคียงระยะยาว เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับรังสีบริเวณเชิงกราน อาจทำให้ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือดได้หลังจาก
ฉายรังสีแล้ว 1-2 ปี หรือในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ อาจมีอาการน้ำลายแห้งถาวรได้ เป็นต้น แพทย์รังสีรักษาส่วนใหญ่จะพยายามอย่าง
ยิ่งที่จะรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมโรคมะเร็งและผลข้างเคียงระยะยาว โดยพยายามให้ได้การควบคุมโรคที่มากที่สุดและให้มีผลข้าง
เคียงระยะยาวน้อยที่สุด
บทความโดย ผศ.นพ.ชวลิต เลิศบุษยานุกูล