กินอย่างไร..เมื่อฉายแสง-เคมีบำบัด
กินอย่างไร..เมื่อฉายแสง-เคมีบำบัด
ผู้ป่วยมะเร็งควรมีความรู้ในการกินอาหารเพื่อช่วยให้แข็งแรง ช่วยให้เคมีบำบัดออกฤทธิ์ฆ่ามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาได้ต่อเนื่อง ช่วงนี้ผู้ป่วยอาจได้รับคำบอกให้งดเนื้อสัตว์ทุกชนิดงดน้ำตาล รู้สึกสับสน คู่มือนี้จะคลายความสับสนให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจจริงๆ ว่า กินอย่างไรช่วยให้สู้มะเร็งได้อย่างแท้จริง อาการที่เกิดขึ้นในช่วงรับเคมีบำบัดหรือฉายแสงจะบรรเทาได้ อาหารมีส่วนสำคัญช่วยฟื้นฟูร่างกาย ดังคำแนะนำต่อไปนี้
1. ทำอย่างไร..เมื่อไม่อยากกิน ถ้าเบื่ออาหาร กินไม่ลง กินอะไรก็ไม่อร่อย หากไม่กินจะมีสุขภาพแย่ลงจนแพทย์ไม่สามารถให้เคมีบำบัดต่อเนื่องได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรลองปรับการกินเป็นกินครั้งละน้อย แต่บ่อยครั้งแทน หรือลองจัดจานอาหารให้ดูน่ากิน จัดสิ่งแวดล้อมที่สร้างบรรยากาศให้น่ากินมากขึ้น
กินไม่ลง กินอะไรก็ไม่อร่อย อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
-
รับรสชาดเพี้ยน เมื่อรับเคมีบำบัดอาจทำให้ลิ้นรับรสเพี้ยน จมูกรับกลิ่นเปลี่ยนไป บางทีก็รู้สึกอาหารมีรสเค็มจัด หวานจัด หรือบางทีก็ไม่รู้รสเลย จะเป็นแค่ชั่วคราวอย่าเพิ่งหงุดหงิด
คำแนะนำ ให้ลองปรุงรสด้วยมะนาวหรือผักสมุนไพรจะช่วยชูรสชาดให้ดีขึ้นได้ -
อิ่มเร็ว คำแนะนำ ต้องกินอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วน
1. กินครั้งละน้อย แต่บ่อยขึ้นเป็น 5-6 มื้อ
2. กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ได้แก่ ปลา ไก่ หมู ไข่ นม เต้าหู้ ถั่ว
3. ไข่ กินได้ทั้งไข่แดง ไข่ขาว วันละ 1-2 ฟอง
4. นม เลือกนมวัวไขมันต่ำ รับรองไม่เร่งมะเร็งแน่นอน
ถ้าลองทั้ง 2 วิธีนี้แล้ว ยังกินไม่ลง หรือกินได้น้อย น้ำหนักยังลดให้กิน "อาหารทางการแพทย์" สามารถดื่มแทนอาหารปกติหรือดื่มเสริมกับอาหารปกติก็ได้
อาหารทางการแพทย์ คืออาหารที่มี คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน สามารถดื่มทดแทนอาหารปกติได้ โดยคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือนักโภชนาการ สามารถซื้อจากร้านขายยาทั่วไป ในโรงพยาบาลและตามห้างสรรพสินค้าได้ ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะแนะนำอาหารทางการแพทย์สูตรปกติ
- สูตรปกติ ใช้ดื่มแทนอาหารทั้ง 3 มื้อ หรือดื่มเสริมบางมื้อก็ได้ มีหลายยี่ห้อคล้ายกัน เลือกรสที่ชอบได้
- สูตรโปรตีนสูง (ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือนักโภชนาการ) กินเฉพาะช่วงที่นัำหนักลดมาก หรือร่างกายสูญเสียกล้ามเนื้อไปมาก
ถ้ากินอาหารทั่วไป กินไม่ลง กินไม่ไหว เพราะเหม็นหรือรสชาดแปลกๆ ลองดื่มอาหารทางการแพทย์ โดยดื่มเหมือนกินยา ให้อดทน ฝืนดื่มไม่ต้องคำนึงเรื่องรสชาด กินแทนอาหารได้ ร่างกายจะแข็งแรงขึ้น สามารถทนต่อการรักษาทั้งรับยาเคมีบำบัดและฉายแสงจนครบคอร์ส
น้ำหนักลด..ช่วยหน่อยเถอะ
เรื่องน้ำหนักลดเป็นปัญหาสำคัญไม่ว่าจะกินไม่ลงหรือกินเยอะมาก ถ้าน้ำหนักลดไปเรื่อยๆ อย่านิ่งนอนใจ ปรึกษาแพทย์ หาสาเหตุเพื่อไม่ให้น้ำหนักลดมากเกินไป ถ้าลดมากกว่า 5 กิโลกรัม โดยไม่ได้ตั้งใจ ให้พบแพทย์
- ผู้ป่วยบางคน เบื่ออาหาร..รู้สึกไม่อยากกินอะไรเลย น้ำหนักลดลงไปเรื่อยๆ
- แต่ผู้ป่วยบางคนกินเยอะมาก..แต่น้ำหนักยังลงอยู่
วิธีแก้ ลองพยายามทำตามคำแนะนำในข้อข้างบน ถ้าน้ำหนักยังลดปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจให้ยาเสริม แต่ผู้ป่วยต้องพยายามกินอาหารด้วยและถ้าน้ำหนักลดรุนแรงต้องใช้หลายวิธีช่วยกัน ดังนี้
- กิน มากขึ้น ทั้งที่ไม่อยากอาหาร ขอให้ช่วยฝืนหน่อย ถ้ากินมากอยู่แล้ว
- ออกกำลังกาย ตามกำลังผู้ป่วย ที่ไม่ทำให้บาดเจ็บหรือมีอันตรายจะช่วยฟื้นร่างกายเร็วขึ้นและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขอบอกว่าสำคัญจริงๆ
- พบแพทย์ แพทย์อาจให้ยาช่วยให้อยากอาหารหรือยาอื่นเสริม
กินก็แสบ..เคี้ยวก็เจ็บ
เมื่อได้รับเคมีบำบัดหรือฉายแสง หวังทำลายเซลล์ร้าย ย่อมต้องเสียเซลล์ดีไปบางส่วนบ้าง เช่น เยื่อบุในปากและทางเดินอาหาร บางคนมีการอักเสบร้อนในปาก รู้สึกปวด แสบ กินอะไรก็เจ็บปากไปหมด
วิธีแก้
- กินอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูให้เยื่อบุในปากและทางเดินอาหารเจริญเติบโตขึ้นเร็ว เซลล์ที่งอกขึ้นใหม่จะปิดรอยแผล ความรู้สึกเจ็บแสบจะน้อยลง หากผู้ป่วยยังกนิไม่พอแพทย์อาจจะพิจารณาใส่สายอาหาร ให้อาหารทางจมูก เพื่อผู้ป่วยจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
- รักษาความสะอาดของปากและฟัน โดยบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหลังกินอาหารทุกครั้ง ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ใช้ยาสีฟันรสไม่เผ็ดและน้ำยาบ้วนปาก ตามที่แพทย์แนะนำ เช่น น้ำเกลือ
- กินอาหารแช่เย็น เช่น ไอศครีม หรืออมน้ำแข็ง จะช่วยบรรเทาให้อาการเจ็บแสบลดลง หรือดื่มน้ำเพิ่มขึ้น ก็ช่วยได้เหมือนกัน
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารเผ็ด
- อาหารที่เพิ่งปรุงรสเสร็จกำลังร้อนจัด
- อาหารหรือผลไม้รสเปรี้ยวจัด
- อาหารที่มีลักษณะแข็งที่จะทำให้เจ็บเวลาเคี้ยว
"ถ้ากินข้าวนอกบ้านให้ระวัง อาหารรสชาดเผ็ดร้อน อาหารตามสั่งมักใส่พริก กระเทียม พริกไทย ผู้ป่วยบางคนทนเผ็ดไม่ได้แม้แต่น้อย"
เม็ดเลือกขาวต่ำ..สู้ๆ!!
- ยาเคมีบำบัด-ฉายแสง อาจทำให้เม็ดเลือดขาวลดลงในช่วงได้รับยา เพราะเคมีบำบัดและรังสีออกฤทธิ์แรง เพื่อต่อสู้กับเซลล์ร้าย จึงมีโอกาสกระทบกระเทือนเซลล์ที่ดี เช่น เม็ดเลือด สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรเพื่อช่วยฟื้นฟูให้เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น เพื่อให้รับเคมีบำบัดหรือฉายแสงต่อเนื่องจนครบ
- ถ้าผู้ป่วยมีความเชื่อว่ากินโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือนมวัวจะไปเร่งมะเร็ง ขอชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบความจริงว่ามีงานวิจัยสรุปยืนยันว่า การกินอาหารประเภทโปรตีนจะช่วยให้ ผลการรักษาโรคมะเร็งได้ผลดีมากขึ้น อยู่โรงพยาบาลสั้นลง และไม่ได้ไปเร่งมะเร็งแต่อย่างใด
- ถ้ากินอาหารที่มีโปรตีนน้อยเกินไๆป ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เราลงทุนค่ารักษาไปมาก แต่ต้องมาหยุดชะงัก เพราะท่านมีน้ำหนักลด ผอมแห้ง จนสุดท้ายร่างกายสู้การรักษาไม่ไหว
เคล็ดลับ การกินอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวต่ำ กินอาหารที่มีโปรตรีนสูง ในวันหนึ่งควรกินโปรตีนประมาณ 50-80 กรัม โดยปริมาณขึ้นกับน้ำหนักตัวว่ามากหรือน้อย ตัวอย่าง เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนเท่ากับ 50x1.2 ประมาณ 60 กรัมต่อวัน ในที่นี้จะขอแบ่งตัวอย่างอาหารที่มีโปรตีนออกเป็น "ส่วน" 1 ส่วนจะมีโปรตีน 7 กรัม
- นมวัวไขมันต่ำ 1 แก้ว = โปรตีน 7 กรัม
- เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ = โปรตีน 7 กรัม
- ไข่ 1 ฟอง = โปรตีน 7 กรัม
- กุ้งตัวเล็ก 5 ตัว = โปรตีน 7 กรัม
- เต้าหู้ขาวแข็ง 1/2 หลอด = โปรตีน 7 กรัม
- ปลาทู 1/2 ตัว = โปรตีน 7 กรัม
เคล็ดลับ การกินอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวต่ำ
ตัวอย่าง อาหารที่มีโปรตีน 50 กรัม และ 70 กรัม สามารถแบ่งกินใน 1 วันได้ ดังนี้
มื้ออาหาร | โปรตีน 50 กรัม | โปรตีน 70 กรัม |
มื้อเช้า | กะเพราหมู ไม่ใส่พริก 2 ช้อนโต๊ะ | กะเพราหมู ไม่ใส่พริก 3 ช้อนโต๊ะ ไข่ดาว 1 ฟอง |
มื้อสาย | นมวัวไขมันต่ำ หรือนมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 มล.) | นมวัวไขมันต่ำ หรือนมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 มล.) |
มื้อเที่ยง | เต้าหู้ทรงเครื่อง 2 ช้อนโต๊ะ ไข่ตุ๋น 1 ฟอง | เต้าหู้ทรงเครื่องและอกไก่อบซอสอย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ |
มื้อเย็น | ปลานึ่งมะนาวและไก่ผัดขิงอย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ | ปลานึ่งมะนาวและไก่ผัดขิงอย่างละ 2 ช้อนโต๊ะ กุ้งอบซอส 5 ตัว |
ทุกมื้อ | ทุกมื้อ กินคู่กับข้าวสวย 1-2 ทัพพี จะได้รับโปรตีนรวม 50 กรัม | ทุกมื้อ กินคู่กับข้าวสวย 1-2 ทัพพีจะได้รับโปรตีนรวม 70 กรัม |
กินอาหารโปรตีนสูงร่วมกับอาหารทางการแพทย์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กินอาหารได้บ้าง ดื่มเสริมเพียงวันละ 1-2 แก้ว ระหว่างมื้อแก้วละ 250 แคลอรี่ ได้พลังงานเสริม 250-500 แคลอรี่ โปรตีน 10-20 กรัม
กินอาหารทางการแพทย์แทนอาหารธรรมดาทั้งหมด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อยมาก ดื่มมื้อละ 1-2 แก้ว แทนอาหารปกติในหนึ่งวันดื่ม 4-6 แก้ว ให้พลังงาน 1,000-1,500 แคลอรี่ โปรตีน 40-60 กรัม
ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก
อาจเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการได้รับ ยาแก้คลื่นไส้/อาเจียน หรือได้รับยาเคมีบำบัดบางตัว ที่ทำให้ท้องผูกรุนแรง ลองทำตามวิธีต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ประมาณ 6-8 แก้ว) เพราะน้ำช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น การดื่มน้ำมากขึ้นควบคู่กับผักและผลไม้ที่อุ้มน้ำและมีใยอาหารจะช่วยบรรเทาอาการได้ส่วนหนึ่ง
- กินธัญพืชที่ขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังมัลติเกรน และโฮลเกรน จะมีใยอาหารสูงซึ่งช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น อาจเริ่มต้นโดยหุงข้าวเป็นข้าวกล้องและข้าวขาวอย่างละครึ่งแทนก็ได้
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหารหรืออ่อนเพลีย อาจนำผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น มะละกอ ฝรั่ง แอบเปิ้ล มาหั่นเป็นชิ้นคำเล็กๆ หรือปั่น แบบไม่แยกกากและไม่เติมน้ำตาล ดื่มวันละ 1 แก้วได้
"แต่ไม่ควร !!! ดื่มน้ำผลไม้ปริมาณมาก มีน้ำตาลสูง เพราะจะไม่ได้รับโปรตีนหรือใยอาหารเพียงพอต่อความต้องการ"
"การดื่มน้ำผลไม้ควรระวังสารเคมีเจือปนมา อาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในช่วงที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ท้องเสียหรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น"
วิตามินและอาหารเสริมชนิดเม็ด: ทำลายหรือเร่งมะเร็ง?
อาหารเสริมชนิดเม็ด เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเม็ดหรือแคปซูล มีสารสกัดหรือวิตามินหลายอย่าง ผู้ป่วยชอบซื้ออาหารเสริมเหล่านี้มากินเพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกัน หรือรักษาอาการของโรคให้ดีขึ้น หรือเสริมเข้าไปเพราะกินไม่พอ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
"กองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund International: WCRF) หาข้อมูลป้องกันมะเร็งจาก www.wcrf.org" แนะนำว่าไม่ควรใช้อาหารเสริมในการป้องกันมะเร็ง แต่ควรกินอาหารตามปกติให้หลากหลาย และมีสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่า เพราะว่าอาหารที่ได้จากธรรมชาติเป็นแหล่งที่ดีที่สุดของวิตามิน และแร่ธาตุอยู่แล้ว
กินวิตามินได้จากอาหารประเภทไหน?
- วิตามินซี: ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะนาว กีวี่ สตรอเบอรี่
- วิตามินอี: น้ำมันพืช ไข่ ถั่ว ผักและผลไม้ต่างๆ
- วิตามินดี: รับแสงแดดวันละประมาณ 10 นาที
- โฟเลต: ผักใบเขียวเข้มต่างๆ ถั่วเมล็ดแห้ง
- เบต้าแคโรทีน: ผักที่มีสีเขียว เช่น บรอกโคลี ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น แครอท มะละกอ
วิตามินในอาหารแตกต่างจากวิตามินเม็ด
ข้อเตือนใจ จากงานวิจัยของ จงจิตรและคณะ พบว่า ผู้ป่วยมะเร็ง 50% กินวิตามินโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง นิยมเสริมเป็นพวกสารต้านอนุมูลอิสระเช่น วิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีนและมักนิยมกินปริมาณสูงๆ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งตั้งความหวังไว้กับวิตามินและอาหารเสริม แต่ผลการวิจัยปรากฎว่า วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระไม่ได้ช่วยลดมะเร็งอย่างที่หลายคนตั้งความหวัง แต่สิ่งที่ผู้ป่วยควรรู้คือ วิตามินบำรุงตัวเร่งการเกิดมะเร็งได้ ถ้ากินในขนาดรับประทานที่สูงกว่าที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ และกินติดต่อกันนานเป็นปี
วิตามินเป็นสารที่มีประโยชน์และปลอดภัยถ้าท่านกินจากอาหารที่หลากหลายเป็นประจำ จะทำให้มีขนาดที่พอเหมาะและไม่สูงมากจนเกินไป แต่วิตามินในอาหารเสริม มีปริมาณสูงกว่าในอาหารหลายเท่ามาก
วิตามิน | ผลกระทบจากการกินเสริมเวลานาน |
วิตามินซี | - เสี่ยงเกิดนิ่วในไต, ท้องเสีย, กระเพาะอาหารระคายเคืองได้ |
วิตามินอี |
- เสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก - ลดประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดบางชนิด |
เบต้าแคโรทีน | - กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอดและ มะเร็งกระเพาะอาหารได้ |
"กองทุนวิจัยมะเร็งโลกหรือ WCRF (หาข้อมูลการป้องกันมะเร็งที่ www.wcrf.org)" ยืนยันว่าการเสริมเบต้าแคโรทีนสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด การเสริมวิตามินเหล่านี้จึงต้องระวัง แต่ถ้าแพทย์สั่งให้ผู้ป่วยเพราะมีภาวะขาดวิตามินสามารถกินตามที่แพทย์สั่งได้ ไม่ไปเร่งมะเร็ง