การฉายรังสีร่วมพิกัด
การฉายรังสีร่วมพิกัด
- รังสีรักษาใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ เป้าหมายการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อหยุดการเติบโตของก้อนเนื้อ และบรรเทาอาการ เช่น อาการปวด เป็นต้น
- รังสีรักษาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี โดยใช้รังสีเอ็กซ์ (x-ray) จากเครื่องฉายรังสี การที่รังสีสามารถทำลายก้อนเนื้องอกได้นั้น เกิดจากก้อนเนื้องอกเมื่อโดนรังสีแล้ว จะไม่สามารถซ่อมแซมตนเองได้ตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากเนื้อเยื่อปกติในร่างกาย ซึ่งสามารถซ่อมแซมตนเองได้ทัน ในขณะที่เซลล์ก้อนเนื้องอกถูกทำลายไป
- การฉายรังสีร่วมพิกัดเป็นวิธีการฉายรังสีชนิดหนึ่ง ซึ่งจะ รวมลำรังสีไปยังก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งเป้าหมายโดยต้องอาศัยการใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือ เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อกำหนดตำแหน่งเป้าหมายการฉายรังสีวิธีนี้ต้องมีการจัดตำแหน่งการรักษาที่แม่นยำ เพื่อลดความคลาดเคลื่อน
การฉายรังสีร่วมพิกัดแบ่งได้เป็น
- รังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด (Stereotactic radiosurgery (SRS)) การฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนเนื้องอกบริเวณศีรษะ หรือไขสันหลัง โดยให้การฉายรังสีเพียง 1-5 ครั้ง
- รังสีร่วมพิกัดบริเวณลำตัว (Stereotactic body radiation therapy (SBRT)) เป็นการฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลำตัว เช่น ปอด ตับ หรือต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้การฉายรังสี 1-5 ครั้งเช่นกัน
» SRS/SBRT เหมาะสำหรับเนื้องอกขนาดเล็ก แพทย์ใช้ภาพ CT/MRI ในการประเมินตำแหน่งที่ต้องการฉาย และมีอุปกรณ์จัดท่าผู้ป่วย เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุดในช่วงการฉายรังสี หรือเครื่องฉายรังสีอาจสามารถปรับช่วงการฉายแสงตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย เช่น การหายใจ จากเทคนิคเหล่านี้ ทำให้แพทย์สามารถให้ปริมาณรังสีต่อครั้งในปริมาณสูงแก่ผู้ป่วยภายในจำนวนการฉายรังสีเพียง 1-5 ครั้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีแบบปกติที่ต้องใช้เวลารักษาหลายสัปดาห์
» ข้อได้เปรียบของ SRS/SBRT คือสามารถฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนเนื้องอกเป้าหมายภายในระยะเวลาสั้นกว่าการฉายรังสีแบบปกติ นอกจากนี้ยังเป็นการฉายรังสีที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง และมีความคลาดเคลื่อนต่ำ ผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงจึงน้อยกว่าการฉายรังสีปกติ
» ข้อเสียเปรียบของ SRS/SBRT คือ สามารถใช้ได้เฉพาะในผู้ป่วยรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กและมีรูปร่างขอบเขตชัดเจน สามารถมองเห็นได้จากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) รวมถึงหากก้อนเนื้องอกที่ต้องการฉาย อยู่ใกล้อวัยวะข้างเคียงที่สามารถทนรังสีได้น้อย หรือไวต่อปริมาณรังสีที่เกินขอบเขตกำหนด เช่น ไขสันหลัง หรือลำไส้จะไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการนี้ได้
ลักษณะการฉายรังสีรวมพิกัด
- ใช้ลำแสงหลายๆ ลำซึ่งมีความกว้างของลำแสงน้อย
- เนื้องอกที่ต้องการฉายมีขนาดเล็ก ขอบเขตชัดเจน
- มีเครื่องช่วยจัดท่าผู้ป่วยระหว่างฉายรังสีเพื่อลดการเคลื่อนไหวในช่วงฉายรังสี
- ปริมาณรังสีต่อครั้งสูง จำนวนครั้งในการฉายรังสีน้อย
ความแตกต่างของการฉายรังสีรวมพิกัด
- แต่ละเครื่องมีความสามารถในการฉายแต่ละบริเวณต่างๆ กันไป เช่น อาจฉายได้เฉพาะบริเวณศีรษะ บางเครื่องสามารถฉายได้เฉพาะบริเวณลำตัว
- จำนวนครั้งในการฉายมีตั้งแต่ฉายเพียง 1 วัน จนถึงหลายวัน
- มีวิธีการจัดผู้ป่วยให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดวิธีต่างๆ กันไป หรืออาจมีเครื่องวัดตำแหน่งการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยระหว่างการฉายรังสี
ตัวอย่างของเนื้องอกที่สามารถใช้การรักษาด้วยการฉายรังสีศัลยกรรมร่วมพิกัดได้แก่
- มะเร็งที่กระจายมาบริเวณสมอง
- เนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมอง (Meningiomas)
- เนื้องอกของหูชั้นใน (acoustic neuromas)
- โครงสร้างหลอดเลือดผิดปกติในสมอง (Arteriovenous malformations) เป็นต้น
ในขณะที่รังสีร่วมพิกัดบริเวณลำตัว (SBRT) สามารถใช้เนื้องอกหรือมะเร็งที่มีขนาดเล็กบริเวณทรวงอก ช่องท้อง หรืออุ้งเชิงกราน ที่ไม่สามารถผ่าตัด หรือรักษาด้วยการฉายรังสีปกติไม่ได้ เช่น
- มะเร็งปอด
- มะเร็งที่มีการแพร่กระจายมายังปอด
- มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังตับ
อย่างไรก็ตามการใช้การฉายรังสีร่วมพิกัด จำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสม โดยพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้ชี้แจง ถึงวิธีการในการรักษาและความเหมาะสมในการรักษา